กรุสำหรับ เมษายน, 2011

null

ปี 1972 มีหนังเรื่องหนึ่งที่ทำให้โลกทั้งโลกต้องรู้จักราชากังฟูหน้าหยกนามว่า บรู๊ซ ลี หรือ หลี่เสี่ยวหลง หนังเรื่องนั้นคือ Fist of Fury หรือในชื่อไทยว่า ไอ้หนุ่มซินตึ๊งล้างแค้น หนังทำรายได้ถล่มทลายเป็นประวัิติการณ์ และกลายเป็นแบบอย่างให้กับหนังกังฟูในยุคต่อๆมา ด้วยความคลาสสิคและความสนุกจนไม่คิดว่าจะมีหนังกังฟูเรื่องใดทำได้เท่าเทียม ทว่าในเวลาอีก 22 ปีต่อมา ผู้กำกับ กอร์ดอน ชาน เล่นของสูงโดยการหยิบหนังกังฟูสุดอมตะเรื่องนี้มารีเมค โดยให้ หลี่เหลียนเจี๋ย หรือ เจ็ท ลี รับบทนำเป็น เฉินเจิน ตัวเอกของเรื่อง ซึ่งเป็นตัวละครเดียวกับที่ บรู๊ซ ลี เคยเล่นเอาไว้ และให้ หยวนหวูปิง มารับหน้าที่กำกับคิวบู๊ให้ ผลคือมันเป็นงานรีเมคที่เจ๋งสุดขั้ว และกลายเป็นหนังที่ดีที่สุดในศตวรรษที่ 20 ของหลี่เหลียนเจี๋ย (ส่วนศตวรรษที่ 21 คือ Fearless)

ด้วยความลงตัวหลายประการ อีกทั้งเอกลักษณ์ที่มีแนวทางในการดำเนินเรื่องของตนเองในอีกรูปแบบหนึ่่งที่ต่างไปจากฉบับออริจินอล ทำให้ Fist of Legend เป็นหนังที่ดูสนุกไม่แพ้ฉบับออริจินอลเลยทีเดียว อีกทั้งยังแสดงการคารวะฉบับออริจินอลด้วยการสอดแทรกฉากที่จัดได้ว่าเป็นฉากคลาสสิคของฉบับออริจินอลมาไว้ในหนังด้วย โดยเป็นการนำเสนอที่แตกต่างออกไป แต่ยังคงความสะใจ และสนุกดุเดือดไว้ ตามสไตล์หนังกังฟูเกรดเอเช่นเคย อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ทราบว่าเป็นความบังเอิญหรือความตั้งใจกันแน่ ที่อายุของหลี่เหลียนเจี๋ยในขณะที่หนังเรื่องนี้ออกฉาย ตรงกันกับอายุของบรู๊ซ ลีในช่วงที่ Fist of Fury ออกฉายพอดี คือเมื่ออายุได้ 31 ปี ซึ่งก็ไม่ทราบนะครับว่าเพราะอะไร แต่ที่แน่ๆ ทั้งสองเรื่องล้วนเป็นหนังกังฟูที่เมื่อคอกังฟูได้ชมแล้ว ต้องเอ่ยปากว่า “เจ๋ง” อย่างแน่นอน

null

Fist of Legend มีฉากหลังในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่ญี่ปุ่นบุกยึดครองจีน ชาวจีนถูกชาวญี่ปุ่นปรามาสว่าเป็นขี้โรคเอเชีย ณ ห้วงเวลานี้ได้บอกเล่าเรื่องราวของ เฉินเจิน(หลี่เหลียนเจี๋ย) ศิษย์เอกแห่ง สำนักจิงอู่ ที่ไปร่ำเรียนวิทยาการถึงญี่ปุ่น และมีคนรักเป็นนักเรียนสาวชาวญี่ปุ่นที่เรียนอยู่คลาสเดียวกันชื่อ ยามาดะ มิตสึโกะ (ชิโนบุ นาคายาม่า) แม้กระนั้นเฉินเจินก็ยังถูกชาวญี่ปุ่นเหยียดหยาม โดยเฉพาะเหล่านักคาราเต้สังกัดพรรคโคคุริว จนวันหนึ่งเฉินเจินได้รู้ข่าวเรื่องที่ ฮั่วหยวนเจี่ย ผู้เป็นอาจารย์เสียชีวิตระหว่างการประลองกับ อาคุตากาว่า เรียวอิจิ(แจ็คสัน หลิว) เขาจึงกลับไปที่สำนักจิงอู่ เพราะไม่เชื่อว่าอาจารย์จะพ่ายแพ้ให้กับคู่ต่อสู้ ในที่สุดเฉินเจินก็พบว่าแท้จริงแล้วอาจารย์โดนวางยาพิษต่างหาก เฉินเจินจึงขอความร่วมมือกับ ฮั่วถิงเอิน(เฉินเสี่ยวหาว) ลูกชายของฮั่วหยวนเจี่ยผู้เปรียบเสมือนพี่ชายของเขาในการสืบหาฆาตกรที่วางยาพิษฮั่วหยวนเจี่ย การกลับมาของเฉินเจินในครั้งนี้ สร้างความปลาบปลื้มให้กับพี่น้องร่วมสำนักเป็นอย่างมาก เพราะฝีมือของเฉินเจินนั้นไม่ได้ด้อยไปกว่าถิงเอินเลย หนำซ้ำเขายังสามารถเอาชนะเรียวอิจิได้อีก เป็นการพิสูจน์ว่าฮั่วหยวนเจี๋ยไม่ได้เสียชีวิตเพราะพ่ายแพ้เรียวอิจิเป็นแน่ เพราะแค่ตัวเฉินเจินเองซึ่งเป็นลูกศิษย์ของฮั่วหยวนเจี๋ยเอง เรียวอิจิยังสู้ไม่ได้เลย

ทว่าวันหนึ่งก็มีศพของเรียวอิจิปรากฏอยู่หน้าสำนักโคคุริว มีข้อความเขียนป้ายความผิดให้กับเฉินเจินว่าเป็นคนสังหารเรียวอิจิ จนเฉินเจินต้องโดนจับกุมตัว ร้อนถึงมิตสึโกะต้องข้ามน้ำข้ามทะเลมาแก้ต่างให้กับเฉินเจินจนพ้นคดี แต่มิตสึโกะเองก็กลายเป็นบุคคลล้มละลายไปแล้วเช่นกัน จึงมาขออาศัยกับเฉินเจิน เฉินเจินเองซึ้งในน้ำใจมิตสึโกะที่ช่วยเหลือตนจึงคิดจะให้มิตสึโกะมาอยู่ร่วมสำนักด้วย ทว่าพี่น้องในสำนักไม่ยอมรับมิตสึโกะ เพราะเห็นว่าเธอเป็นชาวญี่ปุ่น ท้ายที่สุดเฉินเจินต้องยอมออกจากสำนักเพื่อตัดปัญหา แม้จะต้องโดนประชาชนของทั้งสองชาติรุมประณามก็ตาม เฉินเจินและมิตสึโกะได้ปลูกกระท่อมที่สุสานของฮั่วหยวนเจี่ยผู้เป็นอาจารย์ ทว่าก็ยังหนีไม่พ้นยอดฝีมืออันดับหนึ่งแห่งพรรคโคคุริวอย่าง ฟูมิโอะ ฟูนาโกชิ(ยาสุอากิ คุราตะ) ที่หมายพิสูจน์ฝีมือกับเฉินเจิน และยังมีอีกหนึ่งศัตรูตัวฉกาจคือ นายพลฟูจิตะ โก(บิลลี่ โจว) จอมกระหายเลือดผู้เป็นคนสังหารเรียวอิจิตัวจริงภายในสองกระบวนท่า อีกทั้งยังหมายกวาดล้างสำนักจิงอู่อีกด้วย ทำให้เฉินเจินต้องลุกขึ้นต่อสู้ แม้จะรู้ดีว่าสำนักจิงอู่ที่เขาเคยร่ำเรียนวิชามาจะไม่ได้ยืนเคียงข้างเขาอีกแล้วก็ตาม

ตัวละครหลัก

null

เฉินเจิน(หลี่เหลียนเจี๋ย) ศิษย์เอกของฮั่วหยวนเจี่ย มีฝีืมือเก่งกาจจนเป็นที่ยกย่อง แต่เพราะมีคนรักเป็นชาวญี่ปุ่นจึงถูกตราหน้าว่าขายชาติ นิสัยเป็นคนนิ่งๆ ขรึมๆ อารมณ์แปรปรวนบ้าง แต่มีไหวพริบดี

null

ยามาดะ  มิตสึโกะ(ชิโนบุ  นาคายาม่า) คนรักของเฉินเจินที่คบกันสมัยเรียน ภายหลังเฉินเจินกลับเมืองจีน ก็โดนพิษการเมืองเล่นงานจนสิ้นเนื้อประดาตัว แต่ด้วยความรักทำให้เธอตัดสินใจไปหาเฉินเจินที่เมืองจีนและช่วยแก้ต่างคดีให้ แต่กลับกลายเป็นว่าต้องทำให้เฉินเจินออกจากสำนักจิงอู่ ทำให้เธอรู้สึกผิดกับเรื่องนี้มาก

null

ฮั่วถิงเอิน(เฉินเสี่ยวหาว) ลูกชายของฮั่วหยวนเจี่ย เป็นเสมือนพี่ชายของเฉินเจิน แต่การกลับมาของเฉินเจินในฐานะฮีโร่ของศิษย์สำนักจิงอู่ ทำให้เขาแอบอิจฉาเฉินเจินอยู่ลึกๆ แต่จริงๆแล้วเป็นคนมีเหตุผล แม้บางครั้งจะชอบใช้กำลังตัดสินปัญหาก็ตาม มีคนรักเป็นนางคณิกาชื่อ เสี่ยวหงส์

null

ฟูมิโอะ  ฟูนาโกชิ(ยาสุอากิ  คุราตะ) ยอดฝีมืออันดับหนึ่งแห่งพรรคโคคุริว และเป็นคนที่มิตสึโกะนับถือ  แม้จะอยู่คนละฝ่ายกับเฉินเจิน แต่แท้จริงแล้วก็เป็นลูกผู้ชายคนหนึ่ง บางคราวอาจวางมาดพูดอะไรน่ากลัวไปบ้าง แต่ความจริงแล้วเป็นคนใจดี

null

ฟูจิตะ  โก(บิลลี่  โจว) นายพลแห่งกองทัพญี่ปุ่น  ฉายา “จอมกระหายเลือด” เป็นคนเลือดเย็น โหดเหี้ยม และมีฝีมือลึกล้ำ ทำไ้ด้ทุกวิถีทางเพื่อหาทางเอาชนะศัตรู ซึ่งเจ้าตัวมักจะอ้างว่า มันเป็น “กลยุทธ์” และพร้ิอมที่จะกำจัดพวกเดียวกันได้ทุกเมื่อ  ทันทีที่รู้สึกไ้ด้ถึงความไม่ชอบมาพากล

เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของชาวจีน ยังคงเป็นบ่อเกิดแห่งเนื้อเรื่องอันคลาสสิค เกี่ยวกับวีรบุรุษชาวจีนได้ทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่อดีตกาลนับพันปีก่อน กระทั่งเมื่อไม่ถึงร้อยปีที่ผ่านมา กับเรื่องราวในต้นฉบับอย่าง Fist of Fury จุดประสงค์หลักของเรื่องนั้นก็คือการปลุกระดมให้เกิดความเป็นชาตินิยมอย่างสุดขั้ว และปฏิวัติตนเองจากการถูกดูหมิ่นเหยียดหยามโดยประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะที่ Fist of Legend กลับมองญี่ปุ่นโดยเปิดใจมากขึ้น สร้างตัวละครของชาวญี่ปุ่นให้มีทั้งดี(มิตสึโกะ , ฟูนาโกชิ) และร้าย(ฟูจิตะ , นักเรียนพรรคโคคุริว) เพื่อให้ผู้ชมได้เปิดใจ ว่าคนญี่ปุ่นในยุคนั้นแท้จริงก็ไม่ได้เลวร้ายไปเสียหมด ที่เลวร้ายจริงๆก็เฉพาะทางทหารเท่านั้น แต่ชาวญี่ปุ่นที่เป็นพลเรือนก็พลอยโดนร่างแหถูกชาวจีนเกลียดชังไปด้วย และเพราะความที่ญี่ปุ่นเป็นชาติที่ประชาชนเต็มเปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์ ตัวละครชาวญี่ปุ่นจึงถูกสร้างขึ้นมาพร้อมกับอุดมการณ์และนิสัยที่ไม่เปลี่ยนแปลง ดีก็แสนดี เลวก็แสนเลว อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ต่างกับตัวละครชาวจีนที่มีบุคลิกซับซ้อน และมีความเป็นปุถุชนสูง โดยเฉพาะตัวละครของ ฮั่วถิงเอิน และ หนงเจี้ยนซุน (พอล ชุน) กับทัศนคติที่มีต่อตัวเฉินเจิน

หนงเจี้ยนซุนเป็นคนเก่าแก่ในสำนัก หลังจากฮั่วหยวนเจี่ยเสียชีวิตเขาก็รับหน้าที่จัดการทุกอย่างในสำนัก แม้จะปากไว พูดไม่เกรงใจไปบ้าง แต่แท้จริงแล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำไปก็เพราะเป็นห่วงลูกหลาน ในตอนที่เฉินเจินกลับมาถึงสำนัก พร้อมกับโชว์ฝีมือกังฟูที่พัฒนาขึ้นนั้นก็ทำให้หนงเจี้ยนซุนไม่พอใจ เพราะเกรงว่าบรรดาศิษย์สำนักจะหันไปเรียนกับเฉินเจินกันหมด โดยไม่ใส่ใจฮั่วถิงเอินที่เป็นเจ้าสำนักรุ่นต่อไปตัวจริง อีกทั้งเฉินเจินยังทำอะไรโดยพลการ ไม่ว่าจะเป็นการออกไปท้าตีกับฟูตากาว่า จนเหล่าลูกศิษย์ต้องมาเอาเรื่องถึงสำนักจิงอู่ ไหนจะผ่าศพอาจารย์เพื่อพิสูจน์หลักฐาน และที่ร้ายแรงที่สุดสำหรับสำนักจิงอู่คือการรับมิตสึโกะ คนรักซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นมาอยู่ร่วมชายคาด้วย ทำให้เพื่อนๆรับไม่ได้ ท้ายที่สุดเฉินเจินจำต้องพามิตสึโกะไปจากสำนักทั้งสองคน

null

การวางตัวละครให้มีมิติที่ลึกเช่นนี้ ย่อมส่งผลให้บทหนังที่ค่อนข้างอ่อนค่อยแน่นขึ้นมาในทันตา อีกทั้งเนื้อเรื่องก็ยังมีการดำเนินเรื่องที่น่าติดตาม และ ใส่ฉากบู๊เข้ามาได้อย่างถูกที่ถูกเวลา ทำให้ไม่เกิดความน่าเบื่อในหนังเลย ทั้งการแสดงของนักแสดงแต่ละคน ก็ถือได้ว่าทำได้ดี น่าประทับใจ และคนที่มีบุคลิกเด่นที่สุดคงหนีไม่พ้น บิลลี่ โจว ในบทนายพลฟูจิตะ ตัวร้ายสุดของเรื่อง ที่แสดงสีหน้าและท่าทางที่มีทั้งความน่ากลัวและน่าหมั่นไส้ไปในเวลาเดียวกัน ยิ่งคิวบู๊ก็ยิ่งหายห่วง เพราะดีกรีนักมวยไทยซะอย่าง อีกทั้งยังรับเล่นหนังบู๊มาหลายต่อหลายเรื่อง (ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นตัวร้าย) และอาจพูดได้ว่าบทนายพลฟูิจิตะ อาจเป็นบทที่ดีที่สุดในชีวิตการแสดงของบิลลี่เลยก็ว่าได้

หากถามว่าอะไรคือไฮไลท์ของหนังเรื่องนี้รองจากคิวบู๊ ก็คงตอบไ้ด้อย่างเต็มปากว่า นักแสดงนั่นเอง สำหรับคอกังฟู เพียงแค่ได้ยินชื่อ เจ็ท ลี หรือ หลี่เหลียนเจี๋ย หนึ่งในสี่จตุรเทพตำนานฟัดของฮ่องกง(ร่วมกับอีกสามคนคือแก๊ง Lucky Stars อันได้แก่ หยวนเปียว เฉินหลง และหงจินเป่า)ก็คงจะตัวสั่นกันเป็นแถว ที่สำคัญมันยังเป็นหนังที่รวมเอาดารากังฟูเกรดเอเอาไว้ถึงสี่คน ทั้งหลี่เหลียนเจี๋ย เฉินเสี่ยวหาว บิลลี่ โจว และ ยาสุอากิ คุราตะ เมื่อรวมกับคิวบู๊ระดับปรมาจารย์อย่างหยวนวูปิงแล้ว ฝีมือระดับพวกเขาคงจะถ่ายทอดออกมาได้อย่างน่าติดตาม และที่ดึงดูดที่สุด คงหนีไม่พ้น ชิโนบุ นาคายาม่า สาวน้อย(ในตอนนั้น)ที่ทั้งสวยและน่ารัก ผมเองยังยอมรับเลยครับว่าเธอสวยและน่ารักจริงๆ  อีกทั้งคาแรคเตอร์ที่ทั้งน่ารักและน่าสงสารก็ส่งให้เธอดูมีประกายขึ้นอีกเป็นกอง (ถ้าไม่ติดว่าเกิดก่อนผม 20 ปี ป่านนี้จีบไปนานแล้ว 555)

null

ด้วยชื่อผู้กำกับคิวบู๊อย่าง หยวนหวูปิง คิวบู๊ในเรื่องนี้เมื่อเทียบกับเรื่องอื่นที่แกเคยกำกับมา หรือลองเทียบกับงานที่แกกำกับทั้งคิวบู๊และหนังเลยในปีเดียวกันอย่าง Wing Chun แล้ว คิวบู๊ใน Fist of Legend ดูจะด้อยกว่าเล็กน้อย และค่อนข้างจะต่ำกว่ามาตรฐานของหยวนหวูปิงเอง แต่อย่างน้อยมันก็ยังดูดีกว่าฉากแอ็คชั่นหลายๆเรื่อง จุดเด่นของฉากแอ็คชั่นในเรื่องนี้ แม้ซีนบู๊จะไม่ดุเดือด หรือซับซ้อนเท่าไรนัก แต่หยวนหวูปิงก็ทดแทนด้วยการสร้างซีนบู๊ขนาดยาวเพื่อให้ผู้ชมได้ร่วมลุ้นตลอด ซึ่งก็ทำได้ยาวพอสมควรทีเดียว โดยเฉพาะฉากไคลแมกซ์ที่เฉินเจินต้องยื้อฝีมือกับนายพลฟูจิตะเป็นเวลากว่า 10 นาที ซึ่งเป็นอีกหนึ่งซีนบู๊ที่น่าจดจำในประวัติศาสตร์หนังกังฟูเลยทีเดียว และที่ผมชอบมากๆก็คือ ซีนบู๊ส่วนใหญ่จะใช้ความครีเอทโดยการหยิบฉวยข้าวของเครื่องใช้ต่างๆที่รายล้อมอยู่รอบกายมาเป็นอาวุธ ซึ่งก็ทำออกมาได้ยอดเยี่ยมทีเดียว

และเพราะความครีเอทนี่เอง ทำให้ซีนบู๊หลายซีนเป็นที่น่าจดจำ อย่างน้อยก็ซีน “ปิดตาสู้” ระหว่าง เฉินเจิน และ ฟูนาโกชิ ที่สุสานฮั่วหยวนเจี่ย และซีนไคลแมกซ์ที่ลากยาวกว่า 10 นาที พร้อมทั้งคิวบู๊ที่มีเอกลักษณ์ ไม่ลอกเลียนเวอร์ชั่นออริจินอล อีกทั้งการเล่าเรื่องที่เริ่มมีสไตล์ของตนเอง แม้คิวบู๊ในเรื่อง จะไม่โหดหรือสะใจ ระบายควาคลั่งแค้นได้ดีเท่ากับใน Fist of Fury ทว่า Fist of Legend มีดีที่ความครีเอทและความมีเหตุผล แม้ว่าท่วงท่าการต่อสู้อาจไม่สวยงามมากนัก เมื่อเทียบกับผลงานอื่นๆที่หยวนหวูปิงกำกับมา แต่ก็ได้ฉากต่อสู้อันจุใจมาทดแทน รวมทั้งการดำเนินเรื่องก็ทำได้ดีไม่แพ้ต้นฉบับเลย ทำให้มีความสุขและสนุกทุกครั้งที่หยิบมันขึ้นมาดู

null

ในฐานะหนังรีเมค Fist of Legend เป็นงานรีเมคที่ทำออกมาได้เจ๋งพอสมควร มีแนวทางเป็นของตนเอง และมีีจุดดีมากกว่าจุดด้อย ทำให้ได้รับการยอมรับว่าเป็นผลงานที่ดีที่สุดในยุคศตวรรษที่ 20 ของหลี่เหลียนเจี๋ย และผู้กำกับ กอร์ดอน ชาน เป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้คนรุ่นใหม่ได้รับชม สำหรับใครที่เกิดไม่ทันชมเวอร์ชั่นต้นฉบับ เพราะ Fist of Legend ก็มีความสนุกและความน่าติดตามในตัวของมันเองอย่างล้นเหลือไม่แพ้ต้นฉบับเลยทีเดียว แม้ที่สุดแล้ว Fist of Legend อาจไม่ถึงกับเป็นหนังที่ Perfect ทว่าอย่างน้อย หนังเรื่องนี้ก็พิสูจน์ให้เห็นว่ามันเข้าใกล้กับคำว่า Perfect มากที่สุดอีกเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์หนังกังฟู และในใจคอหนังกังฟูหลายๆคน


คะแนนรวม   1o/10  อย่าได้ลังเลที่จะเลือกมาชม

null

ฉากเด็ด
ฉาก “ปิดตาสู้” ระหว่าง เฉินเจิน(หลี่เหลียนเจี๋ย) และ ฟูนาโกชิ(ยาสุอากิ คุราตะ) ซึ่งฉากนี้เป็นที่พูดถึงกันมาก เพราะมีความแปลกตาไปอีกแบบจาก ปึงซีเง็ก ปิดตาสู้ ที่หลี่เหลียนเจี๋ยเคยแสดงมาก่อน ซึ่งใน Fist of Legend จะมีความสมจริงมากกว่า และที่สำคัญเป็นการแลกเปลี่ยนวิชากับ ศิลปะป้องกันตัวของญี่ปุ่นอย่างคาราเต้อีกด้วย แม้ความมันส์และความดุเดือดจะสู้ฉากไคลแมกซ์ไม่ได้ แ่ต่ความ “แหวก” และมีเอกลักษณ์ก็สามารถทำให้ซีนนี้เป็นที่น่าจดจำที่สุดในหนัง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเีดีย Wikipedia

Directed by Gordon Chan
Yuen Woo-ping (Martial arts)
Produced by Jet Li
Written by Gordon Chan
Lan Kay-toa
Kwong Kim-yip
Starring Jet Li
Chin Siu-ho
Shinobu Nakayama
Billy Chau
Yasuaki Kurata
Paul Chun
Music by Joseph Koo (Hong Kong version)
Stephen Edwards (Miramax version)
Cinematography Derek Wan
Editing by Chan Ki-hop
Studio Eastern Productions
Distributed by Golden Harvest
Release date(s) Hong Kong:
22 December 1994
Running time 103 minutes (HK)
98 minutes (US)
Country Hong Kong
Language Cantonese
Japanese
English

null

หากมีการจัดอันดับสุดยอดหนังกังฟูคลาสสิค เชื่อว่า The Eight Diagram Pole Fighter หรืออีกชื่อหนึ่งว่า Invincible Pole Fighter หรือในชื่อภาษาไทยคือ จอมยุทธกระบองกล ต้องปรากฏรายชื่ออยู่ในการจัดอันดับอย่างแน่นอน นี่เป็นหนึ่งในหนังกังฟูดราม่าที่นอกจากจะมีฉากต่อสู้อันดุเดือดเร้าใจแล้ว หนังยังแฝงแง่ิคิดและคติธรรมอีกหลายอย่าง รวมถึงความครีเอทในการดีไซน์ฉากบู๊ให้เป็นไปตรงตามบุคลิกลักษณะของตัวละครอีกด้วย จึงเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่า ความ “คลาสสิค” หาใช่ความสนุกเร้าใจอย่างเดียว หากแต่ยังหมายถึงคุณค่าและสาระที่ผู้ชมจะได้รับอีกด้วย ทำให้ The Eight Diagram Pole Fighter กลายเป็นหนังที่น่าจดจำที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์หนังกังฟู เป็นหนังที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในยุคสุดท้ายของ ชอว์บราเดอร์ส และกลายเป็นหนังอีกเรื่องที่ได้รับเสียงชื่นชมใกล้เคียงกับ The 36th Chambers of Shaolin (ยอดมนุษย์ยุทธจักร) งานมาสเตอร์พีซของผู้กำกับ หลิวเจียเหลียง

เดิมทีผู้ที่รับบทเป็นตัวเอกใน The Eight Diagram Pole Fighter มีอยู่ 2 ท่าน ได้แก่ หลิวเจียฮุย หรือ กอร์ดอน หลิว น้องชายของผู้กำกับหลิวเจียเหลียง ส่วนอีกคนหนึ่งคือ ฟู่เซิง ซุปตาร์ผู้น่ารักของ ชอว์บราเดอร์ส แต่น่าเสียดายที่ฟู่เซิงเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์เสียก่อนขณะที่หนังถ่ายทำไปได้แค่ครึ่งเรื่อง ทำให้ต้องให้ดาราสาว ฮุ่ยอิงหง มารับบทดำเนินเรื่องต่อไปแทน โชคยังดีที่การถ่ายทำในส่วนของฟู่เซิงก่อนจะเสียชีวิตนั้นมีเหตุผลมากพอที่จะทำให้ไม่ต้องปรากฏตัวในเรื่องต่อไปได้ ทำให้เนื้อเรื่องดำเนินต่อไปได้โดยไม่ติดขัดใดๆ และไหลลื่นตั้งแต่ต้นจนจบ

null

The Eight Diagram Pole Fighter เป็นหนังที่อ้างอิงจากตัวละครในเรื่อง ขุนศึกตระกูลหยาง มาเป็นแกนหลักของเรื่อง โดยเนื้อเรื่องเริ่มต้นในช่วงที่บรรดาวีรบุรุษทั้งแปดแห่งตระกูลหยาง อันได้แก่ ขุนพลหยางและบุตรชายทั้งเจ็ดออกรบกับข้าศึกที่หาดทรายทอง ซึ่งล้วนแต่เป็นทหารของ เยลู่ฉิน(หวังหลงเหว่ย) อ๋องต้ากิมที่คิดยึดครองจงหยวน แต่เพราะความจงรักภักดีของพวกเขาที่มีต่อราชสำนักมากเกินไป จึงหารู้ไม่ว่า พันเหม่ย ข้าราชการอีกคนได้ร่วมมือกับเยลู่ฉิน สังหารวีรบุรุษตระกูลหยางทั้งหมด เหลือรอดเพียง หยางลิ่วหลาง(ฟู่เซิง) บุตรชายคนที่หกซึ่งเสียใจที่บิดาและพี่น้องทั้งหมดถูกหักหลังจนโดนสังหารหมดสิ้น ทำให้เกิดอาการฟั่นเฟือน และคลุ้มคลั่งทุกครั้งที่ได้ยินชื่อของ พันเหม่ย ส่วนพี่น้องที่เหลือก็ล้วนต้องสังเวยชีวิตไปจนหมดสิ้น มีเพียง หยางอู่หลาง(หลิวเจียฮุย) บุตรชายคนที่ห้าซึ่งหายสาบสูญไปโดยไม่รู้ชะตากรรม

แท้จริงแล้วหยางอู่หลางยังไม่ตาย เขาได้หลบหนีขึ้นไปจนถึง เขาอู่ไถ อันเป็นที่ตั้งของ วัดซินเหลียน เขาตั้งใจที่จะอาศัยร่มเงาแห่งพุทธศาสนาเพื่อชำระล้างจิตใจ และฝึกวิชา “กระบองเขี้ยวหมาป่า” ร่วมกับเหล่าหลวงจีนเพื่อฝึกปรือฝีมือแล้วลงเขาไปแก้แค้นในภายภาคหน้า ทางด้านตระกูลหยางที่เหลืออยู่ก็ทราบข่าวว่า หยางอู่หลางยังไม่ตาย และอยู่ที่วัดซินเหลียน ก็ดีใจเป็นอย่างมาก หยางปาเหม่ย(ฮุ่ยอิงหง) บุตรีคนที่แปด ได้อาสาไปตามหาพี่ชายที่วัดซินเหลียน แต่กลับพลาดท่าโดนพวกต้ากิมจับตัวไปได้ เมื่อเรื่องไปถึงหยางอู่หลาง เขาจึงตัดสินใจลงเขา เพื่อช่วยเหลือน้องสาวและแก้แค้นให้บิดากับพี่น้องทั้งหมดที่สังเวยชีวิตไป ทว่าปัญหาอยู่ที่จิตใจของหยางอู่หลางเอง ที่ยังไม่มีพระสถิตอยู่มากพอ ทำให้หยางอู่หลางต้องเผชิญหน้ากับเหล่าศัตรู และความไม่สงบในใจของเขาเองด้วย

ตัวละครหลัก
null

หยางอู่หลาง(หลิวเจียฮุย) บุตรชายคนที่ห้าของตระกูลหยาง รอดตายจากศึกที่หาดทรายทอง ไปบวชอยู่ที่วัดซินเหลียน เป็นคนมีฝีมือ แต่ใจร้อน วู่วาม และโหดเหี้ยม ทำให้เข้ากับหลวงจีนที่วัดไม่ได้ ต่อมาไ้ด้ฝึกกระบองเขี้ยวหมาป่า ทำให้นิสัยเริ่มสงบขึ้น

หยางลิ่วหลาง(ฟู่เซิง) บุตรชายคนที่หกของตระกูลหยาง มีอาการฟั่นเฟือนและคลุ้มคลั่ง เนื่องจากเสียใจที่พ่อและพี่น้องถูกสังหาร คลั่งแค้นพันเหม่ยเป็นอย่างมาก ทุกครั้งที่ได้ยินชื่อพันเหม่ยต้องออกอาละวาด จนหยางฮูหยินผู้เป็นมารดาต้องคอยเกลี้ยกล่อม

null

หยางปาเหม่ย (ฮุ่ยอิงหง) บุตรสาวคนที่แปดแห่งตระกูลหยาง มีความสุขุม ภายหลังออกตามหาหยางอู่หลางผู้เป็นพี่ชาย

หลังจากที่ทำหนังแนวกังฟูคอเมดี้มาแล้วหลายต่อหลายเรื่อง หลิวเจียเหลียงจึงลองเปลี่ยนทิศทางมาทำหนังกังฟูดราม่าที่สอดแทรกสาระและความเข้มข้นของเนื้อเรื่องดูบ้าง และแนวทางใหม่ที่เขานำเสนอใน The Eight Diagram Pole Fighter ก็ได้รับเสียงชื่นชมเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกันเมื่อลองสังเกตดูก็พบว่างานชิ้นนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับงานของผู้กำกับมือทองของชอว์บราเดอร์สอย่าง จางเชอะ อยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอคุณธรรมน้ำมิตรของบุรุษเพศ และความกล้าหาญชาญชัยของเหล่าวีรบุรุษอันเป็นสิ่งที่ชายชาตรีควรกระทำ และแม้กระทั่งคิวบู๊ที่มีความรุนแรงถึงขนาดเลือดสาดเป็นน้ำพุ ทว่าหลิวเจียเหลียงกลับให้รายละเอียดที่ลึกกว่านั้น โดยการนำเอาคำสอนทางพุทธศาสนามาสอดแทรก โดยจะเห็นได้ชัดในตอนที่หลิวเจียฮุย ที่รับบทเป็นหยางอู่หลางมาขอบวช ทว่าเจ้าอาวาสไม่ยอมบวชให้ เนื่องจากเห็นว่าหยางอู่หลางยังมีกิเลสและโทสะหลงเหลืออยู่ ไม่อาจตัดขาดไปได้

อีกจุดหนึ่งคือฉากที่หยางอู่หลางที่บวชแล้วได้ไปฝึกกระบองเขี้ยวหมาป่ากับหลวงจีนรูปอื่น โดยฝึกกับหมาป่ากลที่สร้างจากไม้ โดยหยางอู่หลางได้ทำลายหมาป่าไม้จนพังพินาศ ต่างจากหลวงจีนรูปอื่นที่เพียงฟาดจุดสำคัญของหมาป่าไม้เท่านั้น ทำให้หยางอู่หลางโดนปรามาสในเรื่องของความโหดเหี้ยมในการลงมือ ซึ่งดูไม่เหมาะกับวิชาที่หลวงจีนฝึกเท่าไรนัก เนื่องจากยังไม่มี “เมตตา” เป็นพื้นฐานมากพอ จากที่กล่าวไว้ข้างต้นนั่นแหละครับว่า The Eight Diagram Pole Fighter เป็นหนังของหลิวเจียเหลียงที่เน้นดราม่าและสาระเป็นหลัก ลองไปเทียบกับงานก่อนหน้านี้อย่าง Cat VS Rat (ฤทธิ์คู่แค้น) ดูได้ เรื่องนั้นทั้งบ้องตื้นและไร้สาระสิ้นดีเมื่อเทียบกับเรื่องนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงโลโก้ของหลิวเจียเหลียงนั่นก็คือ คิวบู๊ที่ซับซ้อนและผ่านการดีไซน์มาแล้วอย่างสร้างสรรค์นั่นเอง และเพื่อการันตีว่านี่ยังเป็นหนังของหลิวเีจียเหลียง เจ้าตัวจึงโดดมาร่วมแจมในหนังด้วยฉากหนึ่ง นั่นคือชาวบ้านที่เป็นอดีตทหารของพันเหม่่ย ซึ่งเกษียณตนเองเพราะทนไม่ได้ที่ต้องรับใช้กังฉิน และท้ายที่สุดนายทหารผู้นี้ก็ได้สละชีวิตเพื่อช่วยให้หยางอู่หลางหนีรอดจากเหล่าคนชั่วไปได้

null

นอกจากคิวบู๊แล้ว คาแร็คเตอร์ดีไซน์ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้หนังดูมีพลังมากขึ้น การสร้างนิสัยและเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไปในตัวละครแต่ละตัวก็เป็นเสน่ห์ที่ทำให้ดูหนังได้สนุกยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตัวของฟู่เซิงที่รับบทเป็น หยางลิ่วหลาง บุตรชายคนที่หกที่มีอาการคลุ้มคลั่งเพราะรับไม่ได้ที่พี่ชายและบิดาของตนถูกหักหลัง แม้ฟู่เซิงจะได้บทเป็นคนบ้า ซึ่งดูค่อนข้างตรงกับแนวถนัดของเขา ซึ่งส่วนใหญ่มักจะได้แต่บทหนุ่มน้อยเฮฮาบ้าบอเสียส่วนใหญ่ แต่เอาเข้าจริงๆแล้ว ความบ้าของหยางลิ่วหลางกลับไม่ได้เป็นที่น่าขบขันเลยแม้แต่น้อย หนำซ้ำยังชวนสลดใจ เนื่องจากความบ้าของหยางลิ่วหลางมีต้นกำเนิดมาจาก ความเจ็บปวดอันน่าเศร้าที่ำทำให้ใจของหยางลิ่วหลางทุกข์ทรมานและไม่เป็นสุข ต้องอาละวาดทุกครั้งที่ได้ยินชื่อศัตรูที่ฆ่าพี่น้องและบิดาของตน

ส่วน หลี่ลี่ลี ที่รับบทเป็น หยางฮูหยิน ภรรยาของขุนพลหยาง และมารดาของบุตรตระกูลหยางทั้งหมดนั้นก็เป็นสตรีที่เด็ดเดี่ยว กล้าพูด ความเด็ดขาดของนางไม่ได้เสื่อมลงไปตามวัยเลย และที่ดูชัดเจนที่สุด ก็คือตัวของหยางอู่หลางเอง ที่มีการพัฒนาบทไปอย่างไม่หยุดหย่อน และสามารถหาช่องทางกระตุ้นอารมณ์ของหยางอู่หลางให้แปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ได้อย่างชาญฉลาดและเหมาะเจาะ ตั้งแต่เป็นขุนศึก จนสงบจิตใจมาครองสมณเพศ ทว่าก็ต้องมีเหตุให้ต้องกลับมารบราฆ่าฟันอีกครั้ง ซึ่งการพัฒนาของบทของ หยางอู่หลางนี้ ได้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและลื่นไหล

null

ในเรื่อง หยางอู่หลางคือตัวละครที่โดนสังคมปฏิเสธทั้งทางโลกและทางธรรม ในทางโลกเขาคือยอดขุนพลผู้ถูกใส่้ร้ายว่าเป็นทหารหนีทัพและกบฏ ต้องถูกตามล่าทั้งจากคนชาติเดียวกันและคนต่างชาติ ส่วนในทางธรรมเขาคือหลวงจีนผู้เต็มไปด้วยโทสะุ ความเกรี้ยวกราดและโหดเหี้ยม จนหลวงจีนรอบข้างไม่อาจทำใจให้เชื่อได้ว่าหยางอู่หลางจะละทิ้งกิเลสมาเป็นหลวงจีนผู้สำรวมอาการและสงบนิ่งได้ ท้ายที่สุดหยางอู่หลางจึงตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตเป็นหลวงจีนในแบบของเขาเอง แม้จะดูแปลกประหลาดกว่าหลวงจีนรูปอื่นๆ แต่เขาก็มีเหตุผลในการใช้ชีวิตของเขา สะท้อนให้เห็นถึงการที่เราไม่ควรยึดติดกับระเบียบแบบแผนมากเกินไป แต่เน้นยึดถือที่อุดมการณ์และความตั้งใจของเราว่า มีประโยชน์กับตัวเราและส่วนรวมมากน้อยเพียงใด

หลิวเจียฮุยถ่ายทอดคาแรคเตอร์ของหยางอู่หลางได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นสีหน้าโกรธ เศร้าโศก และการระเบิดอารมณ์ที่ทำให้เราได้ร่วมลุ้นไปด้วย กับฟู่เซิงยิ่งไม่ต้องพูดถึง ในบทชายหนุ่มผู้คลุ้มคลั่ง ที่ไม่ได้มีกลิ่นอายขบขันแต่ชวนน่าเวทนามากกว่า น่าเสียดายที่ฟู่เซิงต้องเสียชีวิตลงในขณะที่ยังถ่ายทำไม่เสร็จ จึงต้องเปลี่ยนให้ฮุ่ยอิงหง ผู้รับบทเป็นหยางปาเหม่ย บุตรีคนที่แปดมาดำเนินเรื่องในเนื้อเรื่องซับพล็อตแทน ซึ่งในจุดที่ถ่ายทำไว้ก่อนหน้าที่ฟู่เซิงจะเสียชีวิตก็มีเหตุผลเพียงพอที่จะให้ฮุ่ยอิงหงมาดำเนินเรื่องแทน เนื่องจากบทน้องชายผู้คลุ้มคลั่งคงไม่อาจตามหาพี่ชายภายในเวลาอันรวดเร็วให้เจออย่างแน่นอน อีกทั้ง หยางจิ่วเหม่ย(หยางชิงชิง) ผู้เป็นน้องคนที่เก้า ก็มีนิสัยที่ใจร้อนและวู่วามเกินไป คงทำให้ไม่เป็นผลดีนัก ส่วนหยางฮูหยินผู้เป็นมารดาก็ชรามากแล้ว  หยางปาเหม่ยจึงเป็นบุคคลที่เหมาะสมที่สุด ในการออกตามหาหยางอู่หลางกลับมา

null

พูดถึงฮุ่ยอิงหงแล้ว สำหรับคอหนังชอว์บราเดอร์สคงจะไม่ต้องสาธยายอะไรมาก ว่าท่วงท่าบู๊ของเธอนั้นอยู่ในระดับไหน ในช่วงปลายยุค 1960 ชอว์บราเดอรส์ถือกำเนิดนางเอกนักบู๊ขึ้นมาคนหนึ่ง จากหนังเรื่อง Come Drink With Me (หงส์ทองคะนองศึก) ชื่อของเธอคือ เจิ้งเพ่ยเพ่ย ที่ยังกลายมาเป็นดาวค้างฟ้าจนปัจจุบัน แต่เมื่อชอว์บราเดอร์สได้ผู้กำกับมือทองนามว่า จางเชอะ ซึ่งมีวิถีทางการทำหนังที่เน้นแต่ผู้ชายเป็นหลักเข้ามา บรรดานางเอกนักบู๊ก็ค่อยๆหายไปจากจอเงิน กระทั่ง 10 ปีผ่านไป ภายหลังจากการปรากฏตัวของเจิ้งเพ่ยเพ่ย ในปลายยุค 1970 หลิวเจียเหลียงก็ปั้นนางเอกนักบู๊คนใหม่ขึ้นมา ซึ่งลีลาบู๊ของเธอไม่ได้ด้อยไปกว่าเจิ้งเพ่ยเพ่ยเลย ชื่อของเธอก็คือ คาร่า ฮุย หรือฮุ่ยอิงหงนั่นเอง ในเรื่องนี้คุณจะไ้ด้เห็นซีนบู๊ีของเธอในช่วงท้ายๆของเรื่อง ตั้งแต่ตอนที่หยางปาเหม่ยปลอมตัวเป็นชายไปตามหาหยางอู่หลางผู้เป็นพี่ แต่เกิดเข้าใจผิดกับทหารลูกทัพที่มาประกอบอาชีพเป็นเสี่ยวเอ้อ ทำให้เกิดการต่อสู้กันขึ้น อีกช่วงคือตอนไคลแมกซ์ที่เธอต้องร่วมมือกับหยางอู่หลางเพื่อปราบเหล่าคนชั่วให้หมดไป มันเป็นซีนบู๊ที่่สะเทือนใจและสะใจในคราวเดียวกัน

ไม่เพียงแต่คิวบู๊ในเรื่องที่สร้างความเร้าใจและบีบคั้นอารมณ์ได้อย่างถึงพริกถึงขิงเท่านั้น ทว่าการออกแบบอาวุธและยุทโธปกรณ์ต่างๆในเรื่อง ก็ถือได้ว่าครีเอทไม่ใช่ย่อยเลยทีเดียว โดยเฉพาะหมาป่าไม้ที่ใช้เป็นที่ฝึกยุทธของเหล่าหลวงจีนเพื่อรับมือกับเหล่าหมาป่าที่มาสร้างความเดือดร้อนในบริเวณเขาอู่ไถ ดูเผินๆแล้วมันก็เป็นแค่หุ่นไม้ทื่อๆธรรมดา แต่เมื่ออยู่ในมือของ เจ้าอาวาส(เกาเฟย)แล้ว หมาป่าไม้ก็กลายเป็นอาวุธอันน่าสะพรึงกลัวไปในทันที ทั้งการออกแบบตัวหมาป่าไม้ให้เคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว โดยใส่่ข้อพับและข้อต่อของหมาป่าเข้าไป บวกกับการบังคับตัวหมาป่าด้วยท่วงท่าอันว่องไว ทำให้หมาป่าไม้่ในวัดซินเหลียน มีความน่ากลัวไม่แพ้หมาป่าจริงๆ และกลายเป็นอุปกรณ์ที่มีเอกลักษณ์และสามารถสร้างความโดดเด่นที่สุดในเรื่องไปโดยปริยาย

null

อีกหนึ่งยุทโธปกรณ์ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ชมไม่น้อย เห็นจะเป็นอาวุธที่ผมขอตั้งชื่อให้มันว่า “รถถังไม้ไผ่” ของหยางอู่หลางในตอนท้ายเรื่อง ที่ทำง่ายๆโดยการเอากระบองหลายสิบอันมาสุมไว้บนรถเข็น จากนั้นใช้พลังฝ่ามือผลักไม้ไผ่ออกไปพุ่งทะลุร่างศัตรู เชื่อว่าฉากที่หยางอู่หลางผลักไม้ไผ่ให้พุ่งทะลุร่างของสมุนมือขวาของเยลู่ฉินทีเดียวสองคน นับเป็นภาพที่สะใจคอหนังกังฟูโดยแท้ นี่ยังไม่รวมฉากบู๊แบบฮาร์ดคอร์ที่ประเคนเข้ามากันแบบให้ตายกันไปข้าง อันเป็นงานที่หาไม่ได้ง่ายๆนักในหนังของหลิวเจียเหลียง แต่มันได้อารมณ์ไปแบบหนังจางเชอะเลยทีเดียว โดยเฉพาะวิชากระบองเขี้ยวหมาป่าอันลือลั่น ที่มีเจตนาสั่งสอนหมาป่า แต่ไม่เ้น้นเข่นฆ่า โดยการเลาะฟันหมาป่าออก ซึ่งเหล่าหลวงจีนได้นำมาประยุกต์ใช้กับเหล่าสมุนของเยลู่ฉิน ที่การกระทำของพวกมันก็ไม่ต่างอะไรจากหมาป่านัก ฉากที่หลวงจีนวัดซินเหลียนช่วยกันเลาะฟันเหล่าทหารของเยลู่ฉินก็เป็นอีกฉากหนึ่งที่แสดงถึงคิวบู๊อันครีเอทและสะใจในเวลาเดียวกัน

ในฐานะหนังกังฟูแล้ว The Eight Diagram Pole Fighter ทำหน้าที่ของมันได้อย่างยอดเยี่ยม ด้วยคิวบู๊อันดุเดือด เร้าใจ และสะใจคอหนังกังฟู ขณะเดียวกันหนังก็ยังสอดแทรกสาระและคติธรรมในพุทธศาสนาได้อย่างน่าประทับใจ รวมไปถึงวิถีชีวิตในการครองตน หากต้องเลือกระหว่างกฎเกณฑ์และอุดมการณ์ ทั้งความเป็นดราม่าในหนัง ก็เชื่อว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ชมพอสมควร ทำให้ The Eight Diagram Pole Fighter เป็นหนังที่ควรค่าแก่คอหนังกังฟู และคอหนังดราม่าอย่างยิ่งยวด และเหมาะสมกับการขึ้นแท่นเป็นหนังคลาสสิคกังฟูที่ดีที่สุดในโลกเรื่องหนึ่งได้อย่างไม่ยากเย็น

null

คะแนนที่ได้  10/10

null

ฉากเด็ด

ฉากที่ หยางอู่หลาง(หลิวเจียฮุย) ทำการบวชด้วยตนเอง เนื่องจากเจ้าอาวาสไม่ยอมบวชให้ เพราะเห็นว่ายังคงมีกิเลสอยู่ ในฉากนี้หยางอู่หลางได้ทำการโกนผมตนเอง จนเต็มไปด้วยบาดแผลจากการโกนบนศีรษะ อีกทั้งยังนำธูปมาจี้ใส่ศีรษะตนเองเพื่อแสดงการเป็นสัญลักษณ์ของหลวงจีนอีกด้วย ฉากนี้ได้ทั้งอารมณ์สะเืทือนใจ และแสดงถึงตัวตนของหยางอู่หลางอย่างเห็นได้ชัด ที่หลายคนอาจต้องหลั่งน้ำตาให้เลยทีเดียว

ขอขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย Wikipedia

Directed by Lau Kar-leung
Produced by Mona Fong
Run Me Shaw
Run Run Shaw
Written by Lau Kar-leung
Kuang Ni
Starring Alexander Fu Sheng
Gordon Liu
Lau Kar-leung
Wang Lung Wei
Music by Stephen Shing
Distributed by Shaw Brothers Studio
Release date(s) 1983
Running time 98 minutes
Country Hong Kong
Language Cantonese