Archive for the ‘ภาพยนตร์อินเดีย’ Category

null

เราอาจจะเคยเห็นหนังแอ็คชั่นประเภทซุปเปอร์ฮีโร่กันมาแล้วจากหลายต่อหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Batman อิมพอร์ตจากพี่กัน อเมริกา , Spiderman จากเมืองผู้ดี อังกฤษก็มีมาแล้ว และอีกหลายต่อหลายตัวไม่ว่าจะเป็น Iron Man , Hulk , Captain America , X-Men และอีกหลายต่อหลายตัวที่ยกโขยงกันมาจากทั้ง Marvel และ DC ฝั่งเอเชียเราเท่าที่เห็นเด่นๆเลยก็คือ Masked Rider หรือไอ้มดแดง , Ultraman และก็ ขบวนการห้าสี ซึ่งเป็นผลงานของพี่ยุ่นเค้า พี่ไทยเราก็ไม่น้อยหน้า ส่ง มนุษย์เหล็กไหล กับ อินทรีแดง มาบ้าง แม้ตอนเข้าฉายจะไม่น้อยหน้า แต่หลังฉายและได้คำวิจารณ์แล้ว ไทยเราก็ต้องหน้าหดไปตามๆกัน คราวนี้เป็นทีของสตูดิโอจากฝั่งบอลลีวู้ด อุตสาหกรรมหนังอินตะระเดียเค้า หลังจากที่ผลิตหนังหลากหลายแนวมาเป็นเวลานาน ในที่สุดก็ถึงเวลาส่งหนังแนวซุปเปอร์ฮีโร่พันธุ์โรตีขึ้นมาบ้าง เป็นที่มาของเรื่อง Krissh – คนพลังพายุ ที่ทุกท่านกำลังอ่านอยู่นี้ โดยมอบหมายบทพระเอกให้กับหนุ่มกล้ามบึ้ก หฤติก โรชาน แม้บางส่วนของหนังจะยังเดินตามรอยสูตรสำเร็จของขนบหนังอินเดียทั่วๆไปอยู่บ้าง แต่ด้วยการเดินเรื่องที่สนุก ทำให้ Krrish ได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลาม จากทั้งในและนอกประเทศ ทำให้ต้องเข็นภาค 2 ออกมา เข้าฉายใน ปี 2012 นี้เลยแหละทุกท่าน แว่วๆมาว่าจะทำเป็น 3D ซะด้วยสิ เอ้า

หลายคนอาจจะมองว่ามันไม่แปลกไปเหรอที่อินเดียคิดจะทำหนังซุปเปอร์ฮีโร่ซักเรื่อง ขอตอบเลยว่า มันไม่แปลกหรอกครับ เพราะหนังอินเดียแต่ละเรื่อง จะมีพระเอกที่มีฝีมือบู๊เก่งปานพระนารายณ์กลับชาติมาเกิดกันทั้งนั้น เตะต่อยทีกระเด็นขึ้นหลังคา เล่นเอาซะหนังจีนกำลังภายในยังอายเลยทีเดียว จึงไม่น่าแปลกหากเค้าคิดจะหาเหตุผลมาให้พระเอกเหล่านี้ดูเก่งเว่อร์ผิดมนุษย์มนาบ้าง โดยการอัพเกรดสถานะให้เป็นซุปเปอร์ฮีโร่เพื่อลดข้อกังขาตรงนี้ไป ยังไม่รวมหนังสมัยก่อนที่เอาตำนานเทพเจ้ามาสร้าง โอ้โหเฮะ เว่อร์กว่านี้อีกหลายเท่าตัวนักคุณเอ๊ย สำหรับ Krrish นี้จะแตกต่างจากหนังซุปเปอร์ฮีโร่ทั่วๆไปตรงที่มีการผสมผสานเนื้อเรื่องหลายๆแนวเข้าไป ตามขนบหนังอินเดีย ทั้งไซไฟ ตลก โรแมนติก พ่อแง่แม่งอนมีบ้าง เหมือนดูละครทีวียังไงยังงั้น แต่ที่นึกไม่ถึงคือ การใส่เนื้อเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวเข้าไปด้วย ซึ่งมีหนังน้อยเรื่องนักที่จะใส่ประเด็นตรงนี้เข้าไป (เท่าที่เห็นก็มี Spiderman ภาค 1 และก็ วิ่งกระเตงฟัด) และประเด็นครอบครัวใน Krrish ก็ดูซึ้งและประทับใจมาก จนให้อารมณ์ Feel Good อย่างยากที่จะหาเรื่องไหนมาเปรียบกับเรื่องนี้ได้

null

Krrish เป็นเรื่องราวของ โสณิยา เมรา (เรขา) หญิงวัยกลางคนที่พบว่า กฤษณะ หลานชายตัวน้อยของเธอมีความสามารถเกินเด็กธรรมดาทั่วไป เมรารู้ดีว่านั่นเป็นเพราะพลังพิเศษที่กฤษณะได้รับตกทอดมาจาก โรฮิต (หฤติก โรชาน) ลูกชายของเธอซึ่งเป็นพ่อของกฤษณะ โรฮิตได้รับพลังนี้จาก จาดู มนุษย์ต่างดาวที่มาเยือนบนโลกและได้เป็นเพื่อนกับโรฮิต ทำให้โรฮิตกลายเป็นคนที่ฉลาดเกินวัย และได้รับการไหว้วานจาก ดร.อารียา (นสีรุดดิน ชาห์) นักวิทยาศาสตร์ที่ขอให้โรฮิตช่วยใช้พลังพิเศษในการสร้างคอมพิวเตอร์ที่สามารถมองเห็นอนาคตได้ แต่แล้วโรฮิตก็โดน ดร.อารียาหักหลังในวันที่  ณิชา (ปรีตี้ ซินตา) ภรรยาของโรฮิตคลอดกฤษณะพอดี  และโรฮิตก็ไม่ได้กลับมาอีก ทำให้ณิชาตรอมใจตาย ทิ้งให้เมราต้องเลี้ยงดูหลานชายตามลำพัง เมราเกรงว่าความพิเศษของกฤษณะจะทำให้มีผู้ไม่หวังดีมาหลอกใช้เขาเช่นเดียวกับพ่ออีก เธอจึงตัดสินใจพากฤษณะไปเลี้ยงดูในแถบชนบทแห่งหนึ่งที่เต็มไปด้วยป่าเขา กฤษณะเติบโตมาพร้อมกับพลังพิเศษทางกายที่เหนือกว่าคนทั่วไปหลายเท่าตัว กระทั่งวันหนึ่ง กฤษณะในวัยหนุ่ม (หฤติก โรชาน) ได้พบกับ ปรียา (ปรียังคะ โชปุระ) พิธีกรสาวที่มาพักร้อนกับเพื่อนในละแวกบ้านของกฤษณะ และกฤษณะก็หลงรักปรียาเข้าให้

หลังจากปรียากลับไปทำงานที่สิงคโปร์ เธอก็โดนบอสเฉ่งโทษฐานที่หายไปหลายวัน ด้วยความกลัวว่าจะโดนไล่ออกจากงาน ฮันนี่ (มณีนิ มิศรา) เพื่อนสาวของปรียาแนะนำให้ปรียาหาทางให้กฤษณะมาที่สิงคโปร์เพื่อใช้ความพิเศษของเขาในการเรียกเรตติ้งเพื่อไม่ให้ตกงาน ปรียาจำใจต้องโกหกกฤษณะว่าเธอกำลังจะถูกบังคับให้แต่งงาน จึงต้องให้กฤษณะมาที่สิงคโปร์ กฤษณะขออนุญาติเมราผู้เป็นย่า แม้เมราจะห่วงกฤษณะแค่ไหน แต่เธอก็ต้องแพ้ใจให้กับความตั้งใจของหลาน โดยก่อนไปเธอได้เล่าเรื่องของโรฮิตให้กฤษณะฟัง และเตือนให้กฤษณะระวังตัวให้ดี อย่าให้ใครหลอกใช้เอาได้ กฤษณะไปถึงสิงคโปร์และได้พบกับปรียา ในที่สุดเขาและเธอก็ได้คบหากันเป็นแฟน กระทั่งวันหนึ่งเกิดเหตุไฟไหม้คณะละครสัตว์ที่กฤษณะกับปรียาไปเที่ยวด้วยกัน ผู้คนมากมายได้รับความเดือดร้อน กฤษณะจำต้องปลอมตัวในคราบของ กฤษ เพื่อช่วยเหลือผู้คน ความเก่งกาจของกฤษทำให้เขาโด่งดังไปทั่วสิงคโปร์ ปรียาเองก็เริ่มระแคะระคายว่า กฤษณะ กับ กฤษ อาจเป็นคนคนเดียวกัน แต่ในขณะที่เรื่องราวของกฤษยังคลุมเครือ ก็ปรากฏชายวัยกลางคนนาม วิกรม (ศารัท ศักเสนา) ผู้มาบอกกล่าวถึงความลับบางอย่างของ โรฮิต และวิกรมผู้นี้คือกุญแจสำคัญที่จะไขเรื่องราวทุกอย่างให้กระจ่าง

ตัวละครหลัก

null

กฤษณะ เมรา (หฤติก โรชาน) เด็กหนุ่มผู้เติบโตในป่าเขาด้วยพลังพิเศษ เป็นคนฉลาดแต่ไม่เฉลียว ซื่อจนเชื่อคนง่าย แต่ก็เป็นคนจิตใจดี มีเมตตา และมักเห็นใจคนอื่นอยู่เสมอ

null

ปรียา (ปรียังคะ โชปุระ) พิธีกรสาวชาวอินเดียที่ทำงานในสิงคโปร์ เหมือน Working Woman แต่จริงๆแล้วเป็นคนค่อนข้างซุ่มซ่าม ขี้ตกใจด้วยซ้ำ เหมือนผู้หญิงทั่วๆไป

null

โสณิยา เมรา (เรขา) หญิงชราผู้มีศักดิ์เป็นย่าของกฤษณะ เธอเป็นห่วงกฤษณะมาก กลัวว่าจะโดนหลอกใช้อย่างที่ โรฮิต ผู้เป็นพ่อเคยโดนมาแล้ว จึงไม่อยากให้กฤษณะไปไหนไกลๆ

null

ดร.อารียา (นสีรุดดิน ชาห์) หน้าฉากเขาคือนักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะที่คนทั่วไปยกย่อง หลังฉากเขาคือจอมวายร้ายที่ทะเยอทะยานหมายจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่บนโลกให้ได้ ด้วยคอมพิวเตอร์ที่มองเห็นอนาคตได้

null

วิกรม (ศารัท ศักเสนา) ชายวัยกลางคนผู้เป็นผู้ช่วยของโรฮิต สมัยที่มาทำงานกับ ดร.อารียา ต่อมาเมื่อรู้ว่า ดร.อารียาเป็นคนไม่ดี จึงคิดจะถอนตัว แต่ดันมาพบกับกฤษณะเสียก่อน และได้เล่าเรื่องบางอย่างเกี่ยวกับโรฮิตให้กฤษณะรู้

อันที่จริงแล้ว เรื่องราวของ Krrish นั้น ต่อนื่องมาจากภาพยนตร์เรื่อง Koi… Mil Gaya ที่ออกฉายเมื่อปี 2003 นู่น ซึ่งเป็นเรื่องราวของโรฮิตและณิชา พ่อและแม่ของกฤษณะที่ได้พบกับจาดู มนุษย์ต่างดาว โดยมีเรขามาเล่นเป็นแม่ของโรฮิต ภาพแฟลชแบ็คบางส่วนจากเรื่อง Krrish ก็เอามาจาก Koi… Mil Gaya น่าเสียดายที่เรื่องนี้ไม่ได้เข้าฉายในไทย และไม่มีแม้กระทั่งแผ่น เพราะว่ากันว่าเรื่องนั้นทำให้นางเอกสาว ปรีตี้ ซินตา โด่งดังจนได้ประกบคู่กับ ชาห์รุข ข่าน ในหนังรักโรแมนติกเรื่อง Kal Ho Naa Ho ซึ่งออกฉายในปีเดียวกันในเวลาต่อมา ซึ่งก็ต้องเข้าใจนะครับว่าตลาดหนังอินเดียไม่ได้กว้างเหมือนตลาดหนังฮอลลีวู้ด หรือฮ่องกง ที่ไม่ว่าจะมีหนังออกมา จะดีหรือห่วยก็ลากเข้าโรงหรือลงแผ่นไว้ก่อน หนังอินเดียไม่ได้ถูกใจคนไทยขนาดนั้น เว้นแต่จะเป็นหนังที่ดังจริงๆอย่าง Devdas , Dhoom ถึงจะได้มาไทย เห็นทีถ้าอยากดูจริงๆก็คงต้องไปหาแผ่นแถบพาหุรัดซะแล้วล่ะครับ หรือไม่ก็คงต้องโหลดมาดู ส่วนเรื่อง Krrish นั้นมีแผ่นมาสเตอร์แล้ว โดยบริษัท เจ – บิคส์ ก็ลองไปหามาดูแล้วกันครับ แต่คงยากหน่อยเพราะออกมาได้ 4-5 ปีแล้ว ไม่รู้จะยังเหลืออยู่มั้ย

ก็อย่างที่บอกแหละครับว่า Krrish เป็นภาคต่อจากหนังเรื่อง Koi… Mil Gaya ซึ่งทั้งสองเรื่องก็กำกับโดยผู้กำกับคนเดียวกันคือ ราเกศ โรชาน อ๊ะๆ นามสกุลคุ้นๆ ใช่มั้ยล่ะ ก็เค้าเป็นป๊ะป๋าของ หฤติก โรชาน พระเอกของเรื่องนี่ ลูกเล่นพ่อกำกับ อุตสาหกรรมในครัวเรือน โชคดีว่าคุณลูกแกหล่อเข้มบาดใจ (ไม่เหมือนผู้กำกับไทยบางคนที่รู้ว่าลูกไม่หล่อไม่เท่ ยังจะดันให้เป็นพระเอกอยู่นั่นแหละ) เผอิญ Krrish ทำรายได้ถล่มทลายก็รวยกันทั้งบ้าน ติดอันดับหนังทำเงินสูงสุดเป็นอันดับ 3 ในทศวรรษที่ผ่านมา (2000 – 2010) ก็ถือว่าประสบความสำเร็จมากๆครับ กับหนังซุปเปอร์ฮีโร่เรื่องแรกๆของบอลลีวู้ด เนื้อเรื่องก็ถูกใจชาวอินเดียทั่วไปเลย เนื้อเรื่องเข้าใจง่าย หลายแนวผสมกัน ที่สำคัญคือ พระเอกเรื่องนี้อย่าง กฤษณะ หรือ กฤษ ถูกออกแบบมาในลักษณะแอนตี้ฮีโร่หรือเปล่าผมเองก็ไม่แน่ใจ คือถ้าพูดถึงฮีโร่ทั่วไปเราจะนึกถึง ผู้ชายมาดเท่ ลุยๆ อารมณ์ขันนิดๆ กะล่อน เจ้าชู้ บู๊เก่ง ประมาณนี้ แต่เรื่องนี้นี่มาแหวกเลย ผมว่า ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์์ จาก Spiderman นี่หน่อมแน้มพอแล้วนะ เจออีตากฤษณะเข้าไป พี่ปีเตอร์ของเราก็กลายเป็นหนุ่มเจ้าสำราญไปเลย

null

Krrish เป็นหนังที่ดูง่ายก็จริง แต่ก็ไม่ถึงกับว่าจะต้องถูกใจผู้ชมไปเสียหมด ทำให้ได้คะแนนใน imdb ประมาณ 6.1/10 ซึ่งอยู่ในระดับกลางๆ ก็อาจเป็นเพราะความเป็น “อินเดีย” มันไม่ได้ “อินเตอร์” ไปซะหมด เพราะเนื้อเรื่องดูง่ายเกินไป ไม่ใช่หนังเจ๋งอย่าง Iron Man หรือ The Dark Knight ที่เน้นขายความเป็นคาแรคเตอร์และแนวคิดมากกว่าจะขายความบันเทิงอย่าง Krrish สำหรับ Krrish เองแม้จะออกตัวว่าเป็นหนังซุปเปอร์ฮีโร่ บู๊ๆ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าในหนังจะต้องบู๊กระจายอย่างนั้น เพราะเมื่อดูจริงๆแล้วจะเห็นฉากบู๊แค่เพียง 2-3 ฉาก จากความยาวทั้งหมดเกือบสามชั่วโมง! คือถ้าไม่ได้การเดินเรื่องที่น่าติดตามแล้ว มันคงจะกลายเป็นหนังสุดเซ็งไปในทันที ก็ต้องขอชื่นชมคนเขียนบทที่หาสถานการณ์มาสอดแทรกให้ตื่นเต้นกันได้ตลอด ปกติหนังอินเดียจะบู๊น้อยอยู่แล้ว แต่พอเวลาบู๊ทีนี่แทบจะเป็นกำลังภายในก็ว่าได้ และเหมือนทีมสร้างจะรู้ว่าหนังอินเดียบู๊เหมือนหนังกำลังภายใน พี่แกเลยจัดผู้กำกับคิวบู๊อิมพอร์ตมาจากฮ่องกงกันเลย และชื่อของเขาก็คือ โทนี่ เฉิง หรือ เฉิงเสี่ยวตง นั่นเอง

พูดถึง เฉิงเสี่ยวตง ผู้กำกับคิวบู๊คนนี้ เราอาจไม่ได้รู้จักเขาดีเท่ากับ หยวนหวูผิง หรือ ดอนนี่ เยน เท่าไรนัก แต่ถ้าคุณเคยดูหนังของ จางอี้โหมว อย่าง Hero , Flying Daggers แล้วล่ะก็ เขานี่แหละครับ คือผู้กำกับคิวบู๊ในหนังเหล่านั้น อาจเป็นเพราะต้องการความแปลกใหม่หรืออย่างไรก็ไม่ทราบ แต่เพราะในหนังมีอยู่ฉากหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถของกฤษณะ ในการจดจำสิ่งต่างๆที่อยู่ตรงหน้าแล้วเอามาเลียนแบบได้ นั่นคือตอนที่กฤษณะเดินทางไปสิงคโปร์ และได้พบกับชายชาวจีนคนหนึ่งรำมวยจีนอยู่ กฤษณะได้จดจำและเอาท่วงท่าเหล่านั้นมาใช้ในการต่อสู้นั่นเอง แต่จะว่าไปคิวบู๊ในเรื่องก็ไม่ถึงกับว่าดีมากนะครับ ตามมาตรฐานหนังอินเดียก็อาจจะพอกล้อมแกล้มไปได้ แต่ถ้าตามมาตรฐานของ เฉิงเสี่ยวตงแล้ว ถือว่างั้นๆนะครับ แถมคิวบู๊ยังต้องอาศัยบลูสกรีนมาเสริมอีกต่างหาก ก็ดูไม่เนียนกันไปตามสไตล์หนังอินเดียเค้าน่ะแหละ แต่การตัดต่ออะไรก็ทำให้ออกมาสนุกดี โดยเฉพาะคิวบู๊ตอนสุดท้ายที่ลูกน้องกรูกันเข้ามาอย่างไม่มีเหตุผล จนนึกไม่ออกว่าทำไมนักวิทยาศาสตร์คนนึง ต้องจ้างลูกน้องไว้เยอะขนาดนี้ด้วย(ฟระ)

null

แต่ถึงลูกน้องจะบานตะไทแค่ไหนก็เสร็จพี่กฤษณะแกทุกราย ที่น่าเสียดายก็คือ ในเรื่องไม่มีคู่ต่อสู้ประเภทที่ความสามารถสูสีกับ Krrish เลย ส่วนมากจะเป็นลูกกระจ๊อกรุมเอาซะมากกว่า ก็หวังว่าภาค 2 จะมีมาให้นะครับ ส่วนตัวแล้วผมมองว่า หฤติก เหมาะมากนะครับกับบทกฤษณะ ด้วยรูปร่างที่สูงล่ำเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หน้าตาคมเข้มและแววตาขี้สงสารอะไรมันใช่หมดเลยครับ จึงไม่น่าแปลกใจที่ฉากดราม่าบางฉากของกฤษณะจะทำให้เราหลั่งน้ำตาได้ อีกท้ังเรื่องการออกลีลาคิวบู๊อะไรนี่ไม่ต้องห่วงครับ เพราะแต่ละกระบวนท่าของพี่ติ๊ก(เรียกตามแบบที่แฟนคลับสาวๆในไทยเรียกกัน)นั้น หนักแน่นดุดันจนดอนนี่ เยน ยังต้องมีหนาวเลยทีเดียว แถมหุ่นพี่แกนี่เรียกว่า ทำผมนอนอิจฉาไปหลายวันเลย อยากจะมีหุ่นอย่างพี่เค้ามั่ง ต้องทำยังไงดีเนี่ย ส่วนน้องพีค เอ๊ย ปรียังคะของเรา (เห็นปากเจ่อเหมือนกันเลยเรียกผิดซะงั้น) ก็เล่นได้ดีครับ ดูเป็นสาวบ๊องๆดี แต่ที่เอาใจไปเลยต้อง ป้าเรขา ที่เล่นเป็นย่าของกฤษณะ คนนี้นี่ระดับเทพของแท้ สมกับที่ฝากฝีไม้ลายมือในวงการมากว่า 40 ปีจริงๆ เรียกว่าฉากไหนที่พี่ติ๊กมาป๊ะหน้ากับป้าเรขาแล้วล่ะก็ ใครที่รู้ตัวว่าอ่อนไหวง่ายก็ขอให้เตรียมทิชชู่หรือผ้าเช็ดน้ำตาไว้ให้ดีก็แล้วกัน

ไหนจะดนตรีประกอบที่โหมกระหน่ำคอยกระตุ้นหัวใจผู้ชมตลอดเวลาอีก เรียกว่างานเบื้องหลังนี่ก็ใช่ย่อยเหมือนกัน เพราะเรื่องของเพลงเป็นเสน่ห์ของหนังอินเดียอยู่แล้วครับ โดยเฉพาะเพลงในฉากบู๊ทำมาได้ถึงใจทีเดียว พอพูดถึงฉากบู๊แล้ว ก็อย่างที่บอกแหละครับว่าเรื่องนี้บู๊น้อยมาก โดยเฉพาะพาร์ทแรก (หนังอินเดียส่วนใหญ่แบ่งเรื่องเป็นสองพาร์ท)นี่ ไม่มีให้เห็นแม้แต่หมัดเดียว เพิ่งจะมามีในพาร์ทสอง คือตอนที่กฤษณะมาสิงคโปร์แล้ว และถ้าใครที่อยากเห็นหนังบู๊แบบ ระเบิดอาคาร ผลาญถนน คนเลือดสาด ขอให้ผ่านไปเลยครับ เพราะฉากบู๊ในเรื่องค่อนข้างจะซอฟท์เอามากๆ เนื่องจากกฤษณะนั้นเป็นคนค่อนข้างมีเมตตา ไม่ได้โหดอะไรมากมาย แม้บุคลิกและหน้าตาตอนอยู่ในชุดยูนิฟอร์มจะดูโหดเอามากๆก็ตาม แต่ก็ดีไปอีกแบบครับ หนูๆน้องๆจะได้ดูกันได้ เพราะไม่โหดมาก และคาแรคเตอร์น่ารักๆของกฤษณะก็เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเยาวชนได้ เรียกได้ว่าเป็นหนังบู๊ที่ดูกันได้ทุกวัย และทุกเพศ(โดยเฉพาะเก้งกวาง ถ้าได้เห็นซิกซ์แพ็คพี่ติ๊กแล้วล่ะก็คงตัวสั่นกันเป็นแถว เหอะๆ)

null

ส่วนฉากกุ๊กกิ๊กอะไรก็มีบ้าง (ไม่บ้างหรอก เยอะเลยแหละ) ตามสไตล์หนังอินเดีย กว่าพระเอกนางเอกจะรู้จักชื่อจริงกันก็ปาเข้าไปเกือบครึ่งชั่วโมงแล้ว และคำพูดหวานๆแต่ละคำที่อีตากฤษณะเอามาจีบนางเอกนี่ก็นึกว่า ไชยา มิตรชัย ปะทะ กุ้ง สุธิราช มาพูดเอง คือหวานเลี่ยนออกแนว ลิเก๊ ลิเก มาแต่ไกล จนคนฟังนี่จะอ้วกแตกตายซะให้ได้ ถึงว่าสิ ทำไมพวกตลกถึงชอบพูดกันว่า “อันลิเกเฮฮามาจากแขก เฮ้!” เพราะต้นกำเนิดมันอยู่ที่นี่นี่เอง และบางคนอาจจะสงสัยว่า พระเอกจีบนางเอกแบบนี้ จะมีฉากร้องเพลงวิ่งข้ามเขาหรือเปล่า จะเหลือเหรอครับ! ก็บอกอยู่แล้วว่ากฤษณะเติบโตมาในแถบเชิงเขา แถมนางเอกมาเที่ยวบ้านพระเอกถึงที่ มีอย่างที่ไหนที่เขาจะปล่อยฉากคลาสสิคให้หลุดลอยไป ทำงั้นได้ไง เสียชื่อหนังอินเดียหมด แต่ก็อย่างว่าแหละครับ เป็นเสน่ห์ของหนังอินเดียทุกเรื่องอยู่แล้ว และก็อาจจะเป็นเพราะอย่างนี้แหละครับ ที่หลายคนค่อนข้างเอือมกัน และทำให้หนังอินเดียไม่โกอินเตอร์เท่าไหร่นัก เพราะยังเจาะตลาดคนในประเทศตัวเองอยู่

ถ้าตัดเรื่องความสมเหตุสมผลออกไป แล้วมองกันที่ตัวคาแรคเตอร์และการดำเนินเรื่องแล้ว Krrish ก็ถือเป็นหนังอีกเรื่องที่ดูได้สนุก ประทับใจพอสมควร ผมดูจบแล้วยังชอบเลย โดยเฉพาะบทสรุปของเรื่องที่ทำออกมาได้อบอุ่นมาก แม้กระทั่งจะอยู่ในฉากที่ต่อสู้กันอยู่ก็ตาม ไปจนกระทั่งฉากจบของเรื่อง ตั้งแต่ดูหนังมายังไม่เคยเห็นหนังบู๊เรื่องไหนที่ทำช่วงท้ายได้อบอุ่นหัวใจเท่าเรื่องนี้มาก่อน จนแม้แต่ผมเองก็ยังอดเสียน้ำตาไม่ได้เลย ก็ต้องชื่นชมคนเขียนบทและนักแสดงทุกท่านที่ทำหน้าที่ได้อย่างดี ที่สำคัญคือบทของแต่ละคนมีความเด่นในตัวเอง แม้กระทั่งบทเล็กๆอย่าง วิกรม ที่ออกมานิดเดียวแต่ก็มีความสำคัญต่อเนื้อเรื่องเป็นอย่างมาก น่าเสียดายที่ยังไม่ได้ดู Koi… Mil Gaya มาก่อน ไม่อย่างนั้นคงดู Krrish ได้อย่างถึงอรรถรสมากกว่านี้ แต่ถ้าถามว่าถ้าไม่เคยดู Koi… Mil Gaya มาก่อนแล้วมาดู Krrish จะรู้เรื่องมั้ย บอกได้เลยว่า รู้เรื่องครับ เพราะมันจะเท้าความให้ และไม่สปอยล์ภาคแรกอีกต่างหาก ถึงตอนนี้ผมก็คงต้องขอตัวไปหา Koi… Mil Gaya มาดูก่อนล่ะครับ แล้วถ้าโอกาสอำนวยเมื่อไหร่จะเอามารีวิวกันอีกที

null

หากใครที่เบื่อกับบทพระเอกซุปเปอร์ฮีโร่สุดเก๊กตามสไตล์ฮอลลีวู้ดแล้วล่ะก็ ลองแวะมาลิ้มรสซุปเปอร์ฮีโร่พันธุ์โรตีอย่าง Krrish กันดูบ้าง แม้ตัวหนังจะไม่ได้ขายความครีเอท ทางแนวคิดเหมือนฮอลลีวู้ด แต่ก็เป็นหนังที่ดูง่าย สนุก น่าติดตาม ความสมเหตุสมผลอาจมีไม่มาก แต่ก็ได้แง่คิดและความประทับใจมาทดแทน ถือได้ว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่ไม่ชอบอะไรที่จำเจ หรืออยากจะลองอะไรที่มันแหวกแนวดูบ้าง Krrish ก็เป็นอีกหนึ่งช้อยส์ที่ส่วนตัวแล้วแนะนำให้หามาดูกันดีกว่า ลองมาเปิดใจดูหนังอินเดียซักเรื่อง สำหรับ Krrish ก็เป็นหนังซุปเปอร์ฮีโร่ที่บ่งบอกความเป็นอินเดียในหลายๆด้าน ตั้งแต่เครื่องแต่งกาย ยันไปถึงสูตรสำเร็จอย่างเพลง คิวบู๊เว่อร์ๆ ฉากบอกรักสุดเลี่ยน แม้จะเป็นสิ่งที่หลายคนเอียน แต่ก็ต้องยอมรับได้ว่า เพราะฉากเหล่านี้แหละ ที่ทำให้หนังอินเดียเติบโตมาจนทุกวันนี้ เอาเป็นว่าแค่หนังเรื่องนี้เป็นหนังซุปเปอร์ฮีโร่อินเดียที่หาดูได้ยาก พระเอกสุดบึ้กพอๆกับ Captain America และรายได้ที่ฮิตถล่มทลายในอินเดีย คงมากพอที่จะทำให้หลายๆท่านอยากจะสรรหามาชมกันนะครับ

คะแนนรวม  8.5/10

null

ฉากเด็ด

ฉากที่กฤษณะเดินทางมาสิงคโปร์แล้วพบกับ คริสเตียน ลี (ปินเซี่ย) หนุ่มชาวจีนที่รำมวยจีนเพื่อเอาเงินไปรักษาน้องสาว กฤษณะได้จดจำท่ารำมวยจีนของลีจนหมดสิ้น และเมื่อลีเกิดอุบัติเหตุในการแสดง กฤษณะก็สวมวิญญาณฮีโร่โชว์ท่ารำกังฟูที่ได้จดจำมาเมื่อครู่นี้อย่างสวยงาม ฉากนี้นอกจากจะแสดงถึงคาแรคเตอร์ของกฤษณะในทุกด้านแล้ว ยังจะได้เห็นพี่ติ๊กของเราร่ายรำท่าต่างๆด้วยตัวเอง แบบโนแสตนด์อิน โนสตั๊นท์ (แต่มีสลิงนิดๆ)
ตัวอย่างภาพยนตร์

ขอขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย Wikipedia

Directed by Rakesh Roshan
Produced by Rakesh Roshan
Screenplay by Sachin Bhowmick
Rakesh Roshan
Akash Khurana
Honey Irani
Robin Bhatt
Sanjay Masoom
Story by Rakesh Roshan
Starring Rekha
Hrithik Roshan
Priyanka Chopra
Naseeruddin Shah
Sharat Saxena
Music by Rajesh Roshan
Salim Sulaiman
Cinematography Santosh Thundiyil
Piyush Shah
Editing by Amitabh Shukla
Distributed by Filmkraft Productions (I) Pvt. Ltd.
Release date(s) June 23, 2006
Running time 185 minutes
Country India
Language Hindi
English
Cantonese
Budget 45 crore (US$9.13 million)[1]
Box office 117 crore (US$23.73 million)[2]

null “สิ่งใดที่นำพาให้ตามหารักที่หายไป?”

A. เงิน                                                                        B. โชคลาภ

C. ปัญญา                                                                   D. พรหมลิขิต

คำถามที่ขึ้นบนแฮนด์บิลของหนังอาจจะดูก้ำกึ่งระหว่างยากและง่าย (แต่จะดูง่ายไปทันทีเมื่อเทียบกับคำถามโอเน็ตและแกทแพท) Slumdog Millionaire หรือในชื่อภาษาไทยว่า คำตอบสุดท้าย…อยู่ที่หัวใจ จะนำพาให้คุณได้รู้ถึงที่มาของคำตอบ ทั้งยังได้รู้ถึงความสำคัญของคำตอบนั้น บางครั้งคำตอบบางคำตอบอาจจะไม่ต้องใช้อวัยวะที่เรียกว่า “สมอง” คิด เพราะสมองแสดงออกเพียงสติปัญญา หาใช่ความรู้สึกไม่ ดังนั้นเราจึงต้องใช้สิ่งที่ตอบได้ทุกความรู้สึกที่เป็นอยู่ และสิ่งนั้นเราทุกคนต่างเรียกมันว่า “หัวใจ” ดังที่ปรากฏในชื่อไทยของเรื่อง หัวใจ ที่ว่านั้นหาใช่หัวใจที่เป็นอวัยวะไม่ แต่คือหัวใจที่เป็นตัวแทนของการแสดงออกถึงความรู้สึกต่างๆ สุข ทุกข์ กลัว เศร้า โกรธ รังเกียจ อับอาย ประหลาดใจ ล้วนแล้วแต่ใช้ “หัวใจ” เป็นตัวประมวลผลทั้งสิ้น แหม อย่าเพิ่งทำหน้าอย่างนั้นสิครับ ผมไม่ได้จะเปลี่ยนแนวมารีวิวแบบวิชาการหรอกนะ แต่บางทีก็ต้องมีการหาข้อมูลกันมาบ้าง เพราะผมมันพวกโง่แล้วอวดฉลาด (ว่าไปนั่น)

แต่คนฉลาดก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องรู้ไปซะทุกเรื่อง หากขาดโอกาสและประสบการณ์ เรื่องบางเรื่องเรียนรู้ได้ในตำรา แต่ที่กว้างใหญ่กว่าคือโลกใบนี้ ยังมีอะไรมากมายที่แม้แต่อัจฉริยะก็ยังไม่รู้ และถึงรู้ก็ยากที่จะหาคำตอบและตรรกะต่างๆมาอธิบายได้ ที่กล่าวมานี้คือส่วนหนึ่งของธีมหลักที่ทางผู้สร้าง Slumdog Millionaire ต้องการจะนำเสนอต่อผู้ชม ผ่านหนังดราม่าที่อบอวลด้วยกลิ่นอายโรแมนติก และเสียดสีสังคมอย่างถึงพริกถึงขิง ซึ่งถ้าว่ากันตามความจริงแล้ว Slumdog Millionaire ไม่ใช่หนังอินเดียอย่างที่หลายคนเข้าใจกันนะครับ เพราะทีมงานส่วนใหญ่หรืออาจจะทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นคนอังกฤษกันทั้งนั้น รวมไปถึง แดนนี่ บอยล์ ผู้กำกับภาพยนตร์ด้วย แต่ผมคิดว่าการที่นักแสดงทั้งหมดเป็นชาวอินเดีย เรื่องราวและเหตุการณ์ทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นในประเทศอินเดีย และหลายท่านก็คงจดจำหนังเรื่องนี้ในฐานะหนังอินเดียไปแล้ว ผมเลยเลือกที่จะจัดมันอยู่ในหมวดของหนังอินเดียด้วย ในขณะเดียวกันก็จัดให้มันอยู่ในหมวดของหนังฮอลลีวู้ดเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ผมขอเตือนทุกท่านอีกครั้งว่า Slumdog Millionaire ไม่ใช่หนังอินเดียแท้ๆนะครับ

null

Slumdog Millionaire บอกเล่าเรื่องราวของ จามาล มาลิค(เดฟ พาเทล) เด็กหนุ่มชาวสลัมมุมไบวัย 18 ปี ที่เข้าแข่งขันรายการเกมส์โชว์ที่มีชื่อว่า “Who Wants To Be A Millionaire?” (แปลว่า ใครอยากเป็นเศรษฐี? แต่อย่าไปตอบว่า “ฉันน่ะสิ ฉันน่ะสิ” เชียว) เพื่อตามหา ลติกา(ฟรีด้า ปินโต) หญิงสาวผู้เป็นรักแรกและรักเดียวของเขาที่เคยผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดในชีวิตมาด้วยกันในวัยเด็ก แต่ต่อมาได้พลัดพรากจากกัน จามาลมารู้อีกทีว่าเธอกลายเป็นผู้หญิงคนสำคัญของ จาเวด ข่าน(มเหศ มันชเรขาร์) ผู้มีอิทธิพลในย่านสลัมมุมไบ  อีกทั้ง ซาลิม(มธุระ มิททาล) พี่ชายของจามาล ที่เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขในวัยเด็ก และพลัดพรากจากกันเช่นเดียวกันกับลติกา ก็ได้กลายเป็นมือขวาของจาเวดไปเรียบร้อยแล้ว จามาลพบลติกาครั้งสุดท้าย เมื่อปลอมตัวเข้ามาเป็นคนงานในบ้านจาเวด และพบลติกาอีกครั้ง แต่ก็ต้องพรากจากกันอีก และลติกาก็โดนกักขังไว้เพื่อไม่ให้พบกับจามาลอีก สิ่งเดียวที่จามาลจำได้ก็คือลติกาชอบดูรายการใครอยากเป็นเศรษฐี  และนั่นคือหนทางเดียวที่เขาจะสื่อสารกับเธอ เพียงเพื่อพบเธออีกสักครั้ง นั่นคือการสมัครเข้าแข่งขันในรายการที่เธอชอบดูนั่นเอง

จามาลเข้าแข่งขันโดยไม่ได้หวังเงินรางวัลแต่อย่างใด แต่จะเป็นโชคหรือเคราะห์กรรมก็ไม่ทราบ ที่ทำให้จามาลตอบคำถามถูกทุกข้อ ทำให้ เปรม(อนิล กาปูร์) พิธีกรและเจ้าของรายการนี้เริ่มคลางแคลงใจในตัวของจามาลว่าอาจใช้วิธีทุจริตในการตอบคำถาม เพราะสถานะของจามาลไม่ได้มีเครดิตมากพอที่จะตอบคำถามระดับที่แม้แต่ศาสตราจารย์ยังไม่รู้ได้ เปรมจึงอาศัยช่วงที่รายการหยุดบันทึกเทป เรียกตำรวจมาจับจามาลไป จามาลอยู่ในการควบคุมของ สารวัตร(อิราฟาน ข่าน) และถูกทรมานเพื่อเค้นคำตอบว่าเขาโกงอย่างไร แต่ไม่ว่าจะทรมานอย่างไรจามาลก็ไม่ยอมปริปาก ก่อนที่สารวัตรจะเลือกใช้ไม้อ่อนกับเขา ในการสอบปากคำว่าเพราะเหตุใดจามาลถึงตอบได้ทุกคำถาม จามาลจึงเล่าเรื่องของตนเองตั้งแต่วัยเด็ก ว่าแต่ละช่วงชีวิตเขาได้พบเจออะไรมาบ้าง และคำตอบของคำถามแต่ละข้อนั้นก็ตรงกับเหตุการณ์ต่างๆที่เขาเจอมาโดยบังเอิญ ถึงคราวที่จามาลจะต้องพิสูจน์ตัวเองกับสารวัตร เพื่อหาโอกาสที่จะกลับไปเข้าแข่งขันในรายการอีกครั้ง กับคำถามสุดท้ายที่มีมูลค่าแจ็คพอตสูงถึง 20 ล้านรูปี แต่การกลับไปครั้งนี้หาใช่เพื่อเงินรางวัลไม่ แต่เพื่อการตามหาชีวิตอีกครึ่งหนึ่งของจามาลที่พลัดพรากไป ซึ่งเขาเรียกเธอว่า “ลติกา”

ตัวละครหลัก

null

จามาล มาลิค(เดฟ พาเทล) เด็กหนุ่มวัย 18 ปี จากสลัมมุมไบ มีชีวิตอันเหลวแหลกในวัยเด็ก เพราะกำพร้าพ่อแม่ วัยเด็กร่วมมือกับซาลิมเป็นมิจฉาชีพเพื่อประทังชีวิต เมื่อโตขึ้นได้ตามหาลติกาผ่านเกมส์โชว์ แต่ตอบถูกเกือบทุกคำถาม ทำให้โดนสอบปากคำ ทั้งๆที่คำตอบของคำถามทุกข้อล้วนมาจากเหตุการณ์ที่เขาได้พบเจอมาทั้งสิ้น

null

ลติกา(ฟรีด้า ปินโต) คนรักของจามาลในวัยเด็กที่พลัดพรากจากกันไป และเป็นเสมือนทุกสิ่งทุกอย่างของจามาล เป็นผู้หญิงคนสำคัญของจาเวด ข่าน ผู้ทรงอิทธิพลในสลัมมุมไบ

null

ซาลิม มาลิค(มธุระ มิททาล) พี่ชายของจามาล มีนิสัยเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เพราะก้าวทางผิดจึงทำให้เขาต้องกลายมาเป็นสมุนของจาเวด และสำนึกได้ถึงความเลวที่เคยกระทำกับน้องชาย ทำให้ซาลิมกลับใจคิดจะกลับมาช่วยให้น้องชายสมหวังอีกครั้ง

null

เปรม(อนิล กาปูร์) พิธีกรรายการใครอยากเป็นเศรษฐี หน้ากล้องอาจดูเหมือนพิธีกรทั่วไปที่เป็นมิตรกับผู้เข้าแข่งขัน แต่หลังฉากกลับเป็นจิ้งจอกเฒ่า ที่คอยทำทุกวิถีทางเพื่อให้จามาลพ่ายแพ้ในรายการนี้ เพราะเขาไม่เชื่อว่าคนกระจอกอย่างจามาลจะสามารถทำได้ในสิ่งที่อัจฉริยะทำไม่ได้

null

สารวัตร(อิราฟาน ข่าน) นายตำรวจหนุ่มผู้ควบคุมตัวของจามาล และทำคดีของจามาลอยู่ ภายนอกดูเป็นคนโหดๆ เหี้ยมๆ พูดจาเหน็บแหนมกระแทกกระทั้น แต่แท้จริงแล้วเป็นคนที่รับฟังโดยเหตุผล และไตร่ตรองอย่างรอบคอบ

เคยสงสัยกันบ้างมั้ยครับว่า ทำไมชีวิตของคนเราถึงมักจะมีสุขและทุกข์หมุนเวียนกันไปมาตลอด บางครั้งเราทำตัวดีๆแล้ว ทุกข์ก็ยังตามมา บางครั้งบนวิกฤติเรากลับมองเห็นโอกาส และอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ถาโถมเข้ามาในชีวิตจนแทบจะบ้าตายซะให้ได้ บางเรื่องเราไม่ได้จุดชนวนแต่มันกลับเกิดขึ้น โทษตัวเองก็ไม่ได้ โทษใครก็ไม่ได้ เพราะความผิดนี้เป็นสิ่งที่ “โชคชะตา” กำหนดขึ้น หลายครั้งหลายคราที่มนุษย์ได้รับบทลงท้ณฑ์จากการฝ่าฝืนโชคชะตา สิ่งเดียวที่ทำได้ก็คือต้องยอมรับมัน แต่ว่าโชคชะตามักไม่ค่อยส่งเรื่องดีๆมาให้เราหรอกครับ มันมักจะเล่นตลกกับเราเสมอ และตัวเอกของหนังอย่าง จามาล มาลิค ก็โดนโชคชะตาเล่นตลกจนหัวปั่น ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนตั้งตัวไม่ติดเลย สิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเขาตั้งแต่เด็กยันหนุ่ม และอุปสรรคนานัปการที่เขาต้องฝ่าฟันเพียงเพื่อให้ได้เห็นใบหน้าของผู้หญิงที่เป็นรักแรกและรักเดียวในชีวิตของเขาอย่าง ลติกา ก็ทำให้เขาแทบจะเอาชีวิตไม่รอดเลยทีเดียว

ที่กล่าวมานั้นคือพล็อตหลักของหนัง ที่มีเนื้อหาแหวกแนวจากหนังทั่วๆไป โดยการเล่นกับความรู้สึกของคน โดยเฉพาะตัวเอก ซึ่งในพล็อตหลักนั้นถูกถ่ายทอดมาในแบบโรแมนติกดราม่า ในขณะที่ซับพล็อตหรือพล็อตรองได้นำเสนอในแง่ของการเสียดสีสังคม คือ การเล่าย้อนถึงชีวิตในวัยเด็กของจามาล ขณะที่กำลังให้ปากคำกับตำรวจอยู่ ได้กล่าวถึงวัยเด็กของจามาลที่พบเจอแต่เรื่องเลวร้าย  โดยเฉพาะสังคมอินเดีย เรื่องราวร้ายๆเริ่มต้นขึ้นเมื่อแม่ของจามาลและซาลิมเสียชีวิตจากสงครามระหว่างศาสนา เรื่อยไปจนเป็นขอทาน และประกอบมิจฉาชีพเพียงเพื่อเลี้ยงตนให้อยู่รอดปลอดภัยไปวันๆ ผู้กำกับแดนนี่ บอยล์ เลือกที่จะนำเสนอสถานการณ์สองเวลานี้ให้ควบคู่ขนานไปด้วยกันอย่างมีชั้นเชิง โดยการเริ่มจากจุดใกล้ไคลแมกซ์ของเรื่อง มาตัดสลับกับการที่จามาลเล่าย้อนอดีตของตนเอง แล้ววกกลับมาที่จุดเดิมที่เปิดเรื่องเอาไว้ นับว่าเป็นหนังที่หาการเปิดตัวในแบบฉบับนี้ได้ยากยิ่งทีเดียว เพราะมันเป็นเรื่องยากที่จะวางโครงเรื่องไว้บรรจบเข้าหากันในตอนต่อมาได้ โชคดีที่แดนนี่ บอยล์ให้รายละเอียดตรงนี้ได้ค่อนข้างชัดเจน

null

อีกสไตล์หนี่งที่ค่อนข้างทำได้ดี คือการเสียดสีสังคมอินเดีย โดยเฉพาะเรื่องของการแบ่งแยกชนชั้นวรรณะอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะตัวละครอย่างเปรม พิธีกรรายการที่เทียบได้กับชนชั้นวรรณะแพศย์ ซึ่งแสดงออกถึงการรังเกียจจามาลอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากจามาลเป็นเพียงเด็กสลัมคนหนึ่ง ซึ่งแทบไม่มีสถานภาพทางสังคมเลย การที่เขาเป็นเพียงเด็กเสิร์ฟชาในคอลเซนเตอร์ ก็เท่ากับว่าจามาลเป็นคนวรรณะศูทรดีๆนี่เอง และการที่จามาล “รู้” คำตอบโดยบังเอิญ ก็ยิ่งทำให้เปรมคลางแคลงใจ เพราะเขาไม่มีทางเชื่อหรอกว่าเด็กสลัมจนตรอกคนหนึ่งจะตอบคำถามที่บรรดาบุคคลผู้ทรงภูมิทั้งหลายยังไม่รู้ได้อย่างไร ดังนั้นในระหว่างที่ทั้งสองคุยกันหลังบันทึกเทป เปรมจึงทั้งผลักไสไล่ส่ง และพยายามสร้างสถานการณ์เพื่อบีบบังคับให้จามาลแพ้การแข่งให้เร็วที่สุด แต่ก็ไม่เป็นผลแต่อย่างใด เพราะจามาลยังคงเชื่อมั่นอยู่ว่า ถ้าเขายังยืนหยัดอยู่ในรายการนี้ได้นานเท่าไหร่ โอกาสที่ลติกาจะเห็นเขาและติดต่อกลับมาหาเขาก็ยังมีมากขึ้นเท่านั้น

นอกจากนี้หนังยังได้ตีแผ่ถึงชีวิตของเด็กสลัมที่ต้องอยู่อย่างปากกัดตีนถีบ โดยเฉพาะเด็กกำพร้าอย่างจามาลและซาลิม สองพี่น้องที่ต้องคอยติดสอยห้อยตามไปด้วยกันตลอด พวกเขาต้องพบเจอเหตุการณ์มากมายในวัยเด็ก และบางเหตุการณ์ก็อันตรายเกินกว่าที่เด็กวัยเดียวกันจะเผชิญได้ ไม่ว่าจะเป็นการหนีตายจากสงครามระหว่างศาสนาที่เป็นเหตุให้แม่ของพวกเขาตาย หรือการเผชิญหน้ากับแก๊งขอทานที่ภายนอกดูเป็นคนใจบุญ แต่แท้จริงแล้วกลับเอาเด็กมาทำให้พิการแล้วให้ตระเวนขอเงินจากผู้คน แต่สองพี่น้องก็ผ่านมาได้อย่างทุลักทุเล ประสบการณ์ส่วนใหญ่ล้วนเต็มเปี่ยมไปด้วยความอันตราย ยิ่งสอนให้สองพี่น้องต้องทำทุกอย่างเพื่อเอาตัวรอด แม้จะต้องกระทำเรื่องที่ผิดต่อศีลธรรมและความดีงามนานาประการ เช่น ขโมยของ เป็นต้น และเมื่อชีวิตของสองพี่น้องย่างเข้าสู่จุดแรกของวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต ที่เดินทางผิดเพียงครั้งเดียวก็ยากที่จะหันหลังกลับ ทำให้สองพี่น้องมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกัน โดยเฉพาะซาลิมผู้พี่ที่หลงเดินทางผิดสู่เส้นทางสายนักเลง ทำให้สองพี่น้องต้องเดินกันคนละทาง และแยกจากกันในที่สุด และกว่าที่ซาลิมจะรู้ตัวว่าเดินทางผิด แม้จะกลับใจได้ แต่เขาก็กลับตัวไม่ทันเสียแล้ว

null

มีหลายคนที่ได้ชมหนังเรื่องนี้แล้วได้สงสัยและตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างซาลิมกับจามาล ว่าแท้จริงแล้วสองพี่น้องคู่นี้เขาจะดีหรือจะร้ายใส่กัน โดยเฉพาะซาลิมที่บางครั้งก็เป็นพี่ที่คอยช่วยเหลือจามาลทุกเรื่อง แต่บางครั้งก็เห็นแก่ตัวจนเกินไป และกระทั่งตัวของจามาลเอง ที่ผมเชื่อว่าหลายคนคงสงสัยว่าตกลงแล้วอุปนิสัยของเขาเป็นยังไงกันแน่ บางครั้งก็ดี บางทีก็กวนประสาทคนอื่น ในส่วนนี้แดนนี่ บอยล์ได้ให้เหตุผลว่า บุคลิกของตัวละครทุกตัว เขาตั้งใจที่จะให้พวกเขาเหล่านั้นเป็นตัวละครที่ใกล้เคียงกับชีวิตจริงมากที่สุด พูดง่ายๆคือมีความเป็นปุถุชนนั่นเอง แม้จะทำความดีมาตลอด แต่บางครั้งก็ต้องพ่ายแพ้ต่ออำนาจโมหะและกิเลสต่างๆได้เช่นกัน ส่วนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจามาลและซาลิม แดนนี่ได้ให้เหตุผลอีกว่า เป็นความสัมพันธ์ที่คู่พี่น้องทั่วไปมีให้กันนั่นแหละ ต่อให้เลวใส่กันยังไง แต่สายสัมพันธ์ยังไงก็ตัดไม่ขาด โดยเฉพาะซาลิมที่แม้จะเป็นคนออกปากไล่จามาลให้ออกไปจากชีวิต แต่เมื่อได้พบเจอกับน้องชายอีกครั้ง เขาก็มีอาการดีใจอย่างเห็นได้ชัด

หรือจะเป็นตอนในวัยเด็ก กับฉากที่ระหว่างที่จามาลและซาลิมหลบหนีออกจากแก๊งขอทาน แล้วกระโดดขึ้นโบกี้รถไฟได้ เหลือเพียงลติกาที่วิ่งตามมาเพื่อจะขอขึ้นรถไฟด้วย ซาลิมจับมือเธอเอาไว้ได้ แต่เมื่อเห็นพวกแก๊งขอทานวิ่งตามมา ซาลิมชั่งใจแล้วคิด ดูท่าว่าไม่น่าจะรอด เขาจึงตัดสินใจปล่อยลติกาทิ้งซะ เพราะไม่อย่างนั้นเขากับน้องชายคงไม่รอดแน่ ถ้าว่าในแง่ของหนังอาจจะดูเป็นการกระทำที่เกินเลยไปซักนิด แต่พอคิดในแง่ของชีวิตจริง มันก็ไม่แปลกนะครับที่พี่น้องจะรู้สึกและกระทำต่อกันแบบนั้น เพราะความผูกพันธ์ระหว่างทางสายเลือดและความรู้สึกยังไงก็ตัดกันไม่ขาดแน่ จนท้ายที่สุดซาลิมเลือกที่จะช่วยเหลือให้น้องชายสมหวังในความรัก ด้วยสายสัมพันธ์ที่มีต่อน้อง และการสำนึกถึงบาปที่ตนเคยกระทำกับน้องในอดีต แม้เขาจะรู้ดีว่าการกระทำของเขาจะเป็นการทรยศต่อเจ้านายของเขาก็ตาม และตัวจาเวดผู้เป็นเจ้านายของซาลิมเอง ก็มีอิทธิพลมากทีเดียว แม้แต่ตำรวจยังเกรงกลัว นี่ก็เป็นสิ่งที่สื่อให้เห็นถึงอำนาจเหนือกฏหมายที่เสียดสีสังคมได้อย่างเจ็บแสบ

null

นอกจากความสุดยอดในการดำเนินเรื่องที่มีความเฉียบคม และนำเสนออย่างมีชั้นเชิงแล้ว สิ่งที่นอกเหนือจากความสุดยอดในด้านภาพ ก็ยังมีความสุดยอดในด้านเสียง ที่มีรางวัลออสการ์มาการันตีอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นรางวัลบันทึกเสียงยอดเยี่ยม รางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยม และรางวัลเพลงประกอบยอดเยี่ยม (ดนตรีประกอบกับเพลงประกอบต่างกันตรงที่เพลงมีเนื้อร้องนะครับ แต่ดนตรีจะแค่บรรเลงเฉยๆ เพื่อกระตุ้นอารมณ์ของผู้ชม) ต้องขอบอกว่าฝ่ายบันทึกเสียงหรือมิกซิ่งซาวนด์ทำหน้าที่ได้ดีสมราคาจริงๆ การปรับเสียงในโทนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียงพูดจากทีวี เสียงพูดจากหน้งกางแปลง โดยเฉพาะเสียงพูดจากโทรศัพท์ ที่มีความใกล้เคียงกับเสียงในความเป็นจริงอย่างมากถึงมากที่สุด ราวกับตัวละครเหล่านั้นมาคุยโทรศัพท์อยู่ข้างหูเรานี่เอง อันแสดงให้เห็นถึงความพิถีพิถันและความเอาใจใส่ในทุกรายละเอียดในด้านเสียงจริงๆ

ส่วนดนตรีประกอบก็สร้างความเร้าใจได้ดีทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นดนตรีประกอบในบทอย่าง เพลงเปิดของรายการเกมส์โชว์ ที่สร้างความตื่นเต้นและชวนให้คิดตามคำถามได้ดี หรือดนตรีนอกบทอย่างฉากไล่ล่า ที่ให้อารมณ์ทริลเลอร์อย่างดีเยี่ยม และเพลงประจำตัวของลติกา ที่จะเป็นเสียงผู้หญิงฮัมเพลง ให้อารมณ์ความเหงาและความคิดถึงอย่างโหยหาได้เป็นอย่างมาก ส่วนเรื่องเพลงประกอบก็จะแหวกแนวกว่าหนังอินเดียทั่วๆไปเล็กน้อย เพราะเพลงส่วนใหญ่จะเป็นเพลงแนวแร็พแดนซ์ และเป็นเนื้อภาษาอังกฤษเสียส่วนใหญ่ แต่ก็ยังคงกลิ่นอายของหนังอินเดียอยู่ ขาดก็แต่เพียงฉากร้องเพลงแบบมิวสิควิดีโอ ตามสไตล์หนังอินเดียทั่วไปที่มีอยู่เพลงเดียวคือเพลง Jai Ho ในตอนท้ายเรื่อง เป็นไปได้ว่าเพลงส่วนใหญ่ถูกแต่งขึ้นภายหลังจากหนังเสร็จสมบูรณ์ เพื่อต้องการดูอารมณ์ในฉากนั้นว่าเนื้อหาของเพลงควรจะเป็นแบบไหน และจังหวะควรจะเป็นยังไง สำหรับคอหนังอินเดียอาจจะผิดหวังกันบ้าง แต่อาจเป็นเพราะแดนนี่ต้องการความเป็นสากลในหนังของเขาก่อนเป็นอันดับแรกก็ได้

null

แม้หนังจะเต็มไปด้วยข้อดีมากมาย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อบกพร่อง น่าเสียดายที่นอกจากการเอาใจช่วยตัวละครแล้ว หนังไม่สามารถกระตุ้นอารมณ์ดราม่าและโรแมนติกที่เป็นแนวทางของหนังให้ถึงจุดพีคได้ ถามว่าอารมณ์ดราม่าและโรแมนติกมีหรือไม่ จริงๆมีนะ มีเยอะด้วย แต่หนังมัวเทประเด็นให้กับการพิสูจน์ตัวเองของพระเอกมากไปทำให้มาให้น้ำหนักกับอารมณ์ดราม่าและโรแมนติกได้ไม่สูงพออย่างที่ควรจะเป็น จากที่ตอนแรกกะจะทำให้ฉากโรแมนติกและดราม่ากลายเป็นจุดเด่นของเรื่อง กลับถูกแย่งซีนไปโดยฉากไล่ล่า และฉากกระตุ้นอารมณ์ให้เอาใจช่วยพระเอกในการพิสูจน์ตัวเอง และรอพบลติกาไปอย่างน่าเสียดาย รวมทั้งเหตุการณ์ที่เป็นที่มาของคำตอบของคำถามบางคำถามก็ดูขาดเหตุผลในการที่พระเอกจะรู้คำตอบไปอีกด้วย ยังรู้สึกว่าพระเอกยังไม่น่าสงสารเท่าไหร่เลย

แต่ไม่ว่าจะยังไง เมื่อลองบวกลบคูณหารถอดรูธออกมาแล้ว Slumdog Millionaire ก็ยังคู่ควรกับตำแหน่งหนังดีและรางวัลออสการ์ 8 ตัวอยู่ดี หนุนส่งให้เดฟ พาเทล และ ฟรีดา ปินโต คู่พระนางของเรื่องกลายเป็นซุปตาร์ในเวลาต่อมา (และกลายเป็นคู่รักนอกจอกันจริงๆ) แม้หนังจะสอดแทรกสาระอยู่มากมาย แต่ก็สรุปรวมได้เป็นสาระใหญ่ๆคือ ต้องการให้เรามีความศรัทธาในตนเอง และอย่าได้เชื่ออะไรโดยปราศจากการพิจารณาให้ถี่ถ้วน ให้ยึดตนเป็นที่ตั้ง และใช้สติปัญญาทุกอย่างไขปัญหา เราก็จะสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมนี้ได้อย่างมีความสุข และอย่าได้ยอมแพ้ต่อโชคชะตา เพราะมันคงไม่เล่นตลกกับเรามากเกินไปหรอกครับ เศรษฐีที่ไหนก็ล้วนแต่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ทั้งสิ้น ดาบที่จะดีได้ก็ต้องผ่านไฟมาก่อนทั้งนั้น ยึดมั่นในความดีเข้าไว้ ซักวันหนึ่งมันก็จะกลายเป็นพลังให้เราก้าวผ่านอุปสรรคไปได้ในที่สุด ถึงเวลานั้นไม่ว่าเราจะเป็น Slumdog หรือไม่ แต่ยังไงเราก็ต้องได้เป็น Millionaire (เศรษฐี) อย่างแน่นอน ไม่ใช่เศรษฐีที่ร่ำรวยด้วยเงินตราหรือทรัพย์สมบัติ แต่เป็นเศรษฐีที่ร่ำรวยด้วยความดีและความศรัทธา ไม่ว่าจะเป็นความศรัทธาจากผู้อื่นและจาก…ตนเอง สู้! สู้!

คะแนนรวม  10/10

ฉากเด็ด

null

ฉากที่จามาลในวัยเด็ก ซึ่งกำลังถ่ายหนักอยู่ในส้วมแบบยกใต้ถุน (คือสูงขึ้นจากพื้น และที่ใต้ถุนนั้นก็มีแต่…ขี้ล้วนๆ) และทันทีที่ได้ยินเสียงตะโกนว่า อมิตาภ บาจจัน ดาราคนโปรดมาเยือนในแถบหมู่บ้าน ซาลิมพี่ชายก็หนีไปดูดาราโดยแอบใส่กลอนจากประตูข้างนอกไว้ ทำให้จามาลออกมาไม่ได้ และทางออกก็มีอยู่ทางเดียว คือ รูสำหรับทิ้งระเบิดนั่นเอง โดยมีเบื้องล่างเป็น “บ่อทอง” ล้วนๆ แต่เมื่อดาราขวัญใจมาทั้งที จะไม่ไปขอลายเซ็นก็กระไรอยู่ เจ้าหนูจามาลเลยตัดใจทิ้งดิ่งลงสู่บ่อทอง และวิ่งไปขอลายเซ็นดาราคนโปรดทั้งสภาพนั้นแหละ และนี่คือจุดเริ่มต้นที่หนังกำลังจะบอกกับผู้ชมว่า สำหรับจามาลแล้ว ไม่มีอะไรที่มันทำไม่ได้!!!

ตัวอย่างภาพยนตร์

ขอขอบคุณข้อมูลจาก  วิกิพีเดีย  Wikipedia

Directed by Danny Boyle
Produced by Christian Colson
Written by Simon Beaufoy
Based on Q & A by
Vikas Swarup
Starring Dev Patel
Freida Pinto
Madhur Mittal
Anil Kapoor
Ayush Mahesh Khedekar
Tanay Chheda
Irrfan Khan
Rubina Ali
Tanvi Ganesh Lonkar
Azharuddin Mohammed Ismail
Ashutosh Lobo Gajiwala
Music by A. R. Rahman
Cinematography Anthony Dod Mantle
Editing by Chris Dickens
Studio Celador Films
Film4
Distributed by Pathe Pictures
(UK)
Fox Searchlight Pictures
Warner Bros. Pictures
(US)
Release date(s) 12 November 2008(United States)
9 January 2009(United Kingdom)
Running time 120 minutes
Country United Kingdom
Language English
Hindi
Budget $15 million[1]
Gross revenue $377,910,544[1

null

หัวใจ… ในความคิดของคุณนั้น คุณตีความคำๆนี้ไว้ว่าอย่างไร อวัยวะที่สำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งในร่างกาย หรือ การแสดงออกถึงความรู้สึกที่อยู่ลึกๆภายในหลากหลายรูปแบบ หรือ ความรู้สึกแบบหนึ่งที่เป็นเสมือนตัวแทนของ ความรัก ความหมายของคำว่า หัวใจ มันกว้างมากครับ ไม่ว่าจะเป็นหัวใจแบบรูปธรรม ในลักษณะของอวัยวะ หรือ หัวใจในแบบนามธรรม ในลักษณะของความรู้สึก ในขณะที่เราต่างคนต่างก็ใช้คำว่าหัวใจเปรียบเทียบกับคนเราไปต่างๆนานา แต่แล้ววันหนึ่ง ผู้กำกับหนุ่ม นิคหิล อัตวานี ก็ยกประเด็นของหัวใจในลักษณะทั้งสองแบบมาตีความในเชิงที่อยู่ใกล้กันที่สุด โดยเลือกที่จะถ่ายทอดมันลงไปในภาพยนตร์โรแมนติกสุดซึ้งที่มีชื่อว่า Kal Ho Naa Ho หรือในชื่อไทยว่า โอ้รัก…สุดชีวิต และด้วยการเล่าเรื่องที่มีชั้นเชิง รวมทั้งการเลือกที่จะนำเสนอหัวใจทั้งสองรูปแบบในเชิงอบอุ่นและดราม่าได้อย่างลงตัวและกลมกล่อม Kal Ho Naa Ho จึงกลายเป็นภาพยนตร์บอลลีวู้ดที่ฮิตที่สุดในปี 2003 ที่ออกฉาย เพลงประกอบภาพยนตร์บางเพลงยังได้รับความนิยมมาจนปัจจุบัน และกลายเป็นงานมาสเตอร์พีซของผู้กำกับและเหล่านักแสดงไปในที่สุด

Kal Ho Naa Ho นำแสดงโดยพระเอกหนุ่มซุปตาร์ของวงการบอลลีวู้ด ฉายา Bird Bombay (วิหคบอมเบย์) เขาคือ ชาห์รุข ข่าน นั่นเอง ร่วมด้วยนางเอกสาว ปรีตี้ ซินต้า ในบทสาวสองบุคลิก และมือที่สามผู้น่ารักอย่าง เซฟ อาลี ข่าน รวมทั้งนักแสดงหญิงอาวุโสแห่งวงการบอลลีวู้ด ชยา บาจจัน ภรรยาของพระเอกตลอดการแห่งวงการบอลลีวู้ด อมิตาภ บาจจัน มาในบทแม่ของนางเอก ด้วยการแสดงอันเปี่ยมล้นด้วยพลังของเหล่านักแสดง เนื้อเรื่องชุลมุนวุ่นรักที่เพิ่มเติมด้วยซับพล็อตอันน่าสนใจ เพลงประกอบอันไพเราะ และดนตรีประกอบที่กระตุ้นอารมณ์ได้ทุกสถานการณ์ รวมทั้งอารมณ์ของหนังที่มีให้ผู้ชมอย่างครบรส ไม่ว่าจะสุข เศร้า เหงา ซึ้ง ทำให้ Kal Ho Naa Ho เป็นหนังที่เต็มอิ่มในทุกอรรถรส และกลายเป็นหนึ่งในหนังรักโรแมนติกที่ดีที่สุดตลอดกาลของบอลลีวู้ด หรือหากจะบอกว่าของโลกก็คงไม่ผิดไปแต่ประการใด

null

ในมหานครนิวยอร์ก แห่งสหรัฐอเมริกาอันวุ่นวาย และเต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ยังคงมีครอบครัวของสาวน้อยลูกครึ่งอินเดีย-ปากีสถาน นัยนา แคทเธอรีน กาปูร์(ปรีตี้ ซินต้า) คือชื่อของเธอ เธออาศัยอยู่ในบ้านที่มีความแตกต่างทั้งเชื้อชาติ ศาสนา และทัศนคติส่วนตัว โดยเฉพาะ ลัชโช กาปูร์(สุษมา เศษฐ) ผู้เป็นย่าของนัยนา กับ เจนนิเฟอร์ กาปูร์(ชยา บาจจัน) ผู้เป็นแม่ของนัยนาและลูกสะใภ้ของลัชโช ที่ลัชโชตั้งอคติมาด้วยตั้งแต่ที่เจนนิเฟอร์รับ กิญา(ชนกะ ศุขลา) เด็กหญิงมาเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม ทำให้ลัชโชจงเกลียดจงชังเจนนิเฟอร์และกิญาเป็นอย่างมาก ผิดกับ ศิวะ(อธิต เนกขะ) หลานชายตัวจริงที่ลัชโชทุ่มเทความรักให้อย่างสุดหัวใจ นอกจากอคติที่มีให้กันแล้ว ลัชโชยังเป็นชาวปัญจาบที่นับถือศาสนาซิกข์ ทุกเช้าเธอต้องตื่นขึ้นมาแท็กทีมกับเพื่อนสาวอีกสองคนนั่นคือ กัมโม และ ลัมโม เพื่อสวดบูชาแด่องค์คุรุนานักเทพ ในขณะที่เจนนิเฟอร์เป็นคริสตชนและนับถือพระเยซูและพระผู้เป็นเจ้า นอกจากปัญหาภายในบ้านแล้ว ครอบครัวนี้ยังต้องรับมือกับปัญหาภายนอกบ้านอีกด้วย เพราะร้านอาหารที่พวกเขาเปิดกิจการอยู่นั้นใกล้จะเจ๊งเต็มที จนแบงค์จะมายึดบ้านอยู่รอมร่อ พวกเขาได้แต่สวดภาวนาขอให้สวรรค์ส่งเทวดามาช่วยเหลือให้พวกเขาพ้นทุกข์ไปซะที

และแล้ววันหนึ่งสวรรค์ก็ส่งเทวดามาให้แก่พวกเขา เขาชื่อ อามัน มธุระ(ชาห์รุข ข่าน) เป็นหลานชายของ จัดดา(ดารา ซิงห์) ตาแก่ข้างบ้านที่ตามจีบลัชโชอยู่ ภายนอกอามันคือชายหนุ่มมาดกวนที่วุ่นวายจนนัยนาไม่ชอบขี้หน้าเขาตั้งแต่แรกเห็น แต่พอนานวันเข้า นัยนาก็เริ่มเห็นความดีในตัวอามัน แท้จริงแล้วเขาเป็นหนุ่มจิตใจดี มองโลกในแง่ดี ทั้งยังมีหัวคิดสุดครีเอท เขาเข้ามาคอยช่วยเหลือครอบครัวของนัยนาจนดีวันดีคืน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยฟื้นฟูกิจการร้านอาหารของนัยนาจนกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง ทั้งยังให้ความรักแก่ทุกคนในครอบครัวของเธออย่างเท่าเทียม จนนัยนาค่อยๆรับอามันเข้ามาอยู่ในหัวใจของเธอไปโดยไม่รู้ตัว โดยหารู้ไม่ว่า โรฮิต ปาเตล(เซฟ อาลี ข่าน) เพื่อนชายที่เรียนเซคชั่นเดียวกันกับเธอ และเป็นเพื่อนที่เธอสนิทที่สุด กำลังแอบหลงรักเธออยู่ อามันเองก็รู้ดีว่านัยนารู้สึกกับเขาอย่างไร ทว่าเขารู้ตนเองดีว่าเขาไม่สามารถที่จะครองคู่กับเธอได้ เพราะอามันเป็นโรคหัวใจที่อาจจะอยู่ได้อีกไม่นานนัก และอามันก็รู้ดีว่าโรฮิตรู้สึกอย่างไรกับนัยนา เขาจึงตัดสินใจที่จะใช้ช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต ทำทุกอย่างให้นัยนาได้ลงเอยกับโรฮิต คนที่ยังมี “โอกาส” มากกว่าเขา

ตัวละครหลัก

null

อามัน มธุระ(ชาห์รุข ข่าน) หลานชายของจัดดาที่ย้ายมาอยู่ข้างบ้านของนัยนา ภายนอกเขาอาจดูเป็นผู้ชายกวนๆ ชอบสอดรู้สอดเห็น แต่ความจริงแล้วเป็นคนฉลาด แต่น่าเสียดายที่เป็นโรคหัวใจ และอยู่ได้อีกไม่นาน ทำให้เขาต้องทำทุกวิถีทางให้นัยนาหยุดรักเขาและหันไปรักโรฮิต เพื่อนชายที่รักเธอแทน

null

นัยนา แคทเธอรีน กาปูร์(ปรีตี้ ซินต้า) หญิงสาวเจ้าระเบียบ ขี้บ่น แต่จิตใจดี เป็นคนเปิ่นๆ เธอไม่ชอบหน้าอามันตั้งแต่แรกเห็น แต่เมื่อเห็นความดีของเขาเธอก็เปลี่ยนความรู้สึกที่มีต่อเขาจนกลายเป็นความรัก โดยที่ไม่รู้เลยว่า โรฮิต เพื่อนชายของเธอแอบชอบเธออยู่

null

โรฮิต ปาเตล(เซฟ อาลี ข่าน) เพื่อนชายของนัยนาที่แอบชอบนัยนาอยู่ เป็นคนกะล่อน เจ้าชู้แต่จริงใจ และคิดจะหยุดชีวิตไว้ที่นัยนา แต่เมื่อเขารู้ว่านัยนารักอามันเขาก็ยินยอมหลีกทางให้ แต่เหตุการณ์กลับตาลปัตรเมื่ออามันกลับผลักดันให้เขาลงเอยกับนัยนาซะเอง โดยที่โรฮิตไม่รู้เหตุผลเลยว่าทำไมอามันจึงทำเช่นนั้น และเข้าใจว่าอามันไม่ได้รักนัยนาตอบ

null

เจนนิเฟอร์ กาปูร์(ชยา บาจจัน) หรือ เจนนี่ ชื่อที่อามันตั้งให้ เป็นแม่ของนัยนา เป็นคนชอบเก็บความรู้สึกไว้กับตัวเอง ไม่ถูกกับลัชโชผู้เป็นแม่ผัว เห็นอามันเป็นเหมือนลูกชายอีกคน

null

ลัชโช กาปูร์(สุษมา เศษฐ) ย่าของนัยนา มีอคติกับเจนนิเฟอร์ผู้เป็นแม่ของนัยนาและเป็นลูกสะใภ้ของตน ค่อนข้างหัวโบราณ งานอดิเรกคือหาสามีให้นัยนา

ชื่อของหนังที่ว่า Kal Ho Naa Ho แม้จะจำง่าย แต่หลายคนที่ไม่สันทัดภาษาฮินดีคงต้องมึนตึ้บไม่น้อยหากจะต้องให้แปลประโยคนี้ Kal Ho Naa Ho แปลรวมกันได้ว่า “อาจไม่มีพรุ่งนี้แล้ว” อันเป็นสิ่งที่ทีมผู้สร้างต้องการจะสื่อถึงสิ่งที่สอดแทรกอยู่ในหนังและต้องการจะบอกกล่าวกับผู้ชม โดยเลือกที่จะบอกเล่ามันผ่านตัวละครเอกที่ชื่อ อามัน รวมทั้งถ่ายทอดแนวคิดหัวใจรูปธรรมและหัวใจนามธรรมไปกับตัวละครตัวนี้อีกด้วย โดยมีชนวนใหญ่คือปัญหาโรคประจำตัวของอามัน นั่นก็คือโรคหัวใจนั่นเอง ซึ่งจะเป็นตัวที่กุมความรู้สึกทั้งหมดทั้งมวลในเรื่อง และเป็นสิ่งที่ตัวละครหลักต้องคอยรับมือและแก้ปัญหาของมันให้ได้ โดยเฉพาะตัวของอามันเอง ที่เป็นต้นเหตุของโรคนี้และปัญหานี้ ทีมผู้สร้างจึงจัดแจงสร้างให้อามันเป็นตัวละครที่ใกล้เคียงกับคำว่าเพอร์เฟคท์ ทั้งรูปโฉม คุณสมบัติ และสติปัญญา เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาโดยวิธีอันชาญฉลาด โดยมีจุดอ่อนที่นอกเหนือไปจากโรคหัวใจนั่นก็คือ การไม่ยอมรับความจริง ความจริงที่ว่าเขารักนัยนามาตลอดนั่นเอง

เนื้อหาของหนังในส่วนของพล็อตหลักนั้น อาจจะดูธรรมดาหากเทียบกับหนังรักโรแมนติกทั่วๆไป (โดยเฉพาะเนื้อเรื่องที่มีกลิ่นอายเกาหลีปะปนอยู่ไม่น้อย) ทว่าจุดแข็งที่หามากระชากใจคนดูนั้นกลับเป็นซับพล็อตที่สอดแทรกไปด้วยความรักที่ไม่เพียงแต่มีความรักแบบหนุ่มสาวเท่านั้น แต่ยังเพิ่มเติมความรักแบบครอบครัว ประมาณส่งเสริมสายสัมพันธ์และความเข้าใจของคนในครอบครัวไปอีกด้วย โดยเฉพาะในพาร์ทของความไม่เข้าใจและมีอคติให้แก่กันระหว่างแม่และย่าของนัยนา ทั้งยังแฝงคติถึงวิถีชีวิตของชาวอินเดียที่มาอาศัยอยู่ในต่างแดน กับการต้องปรับตัวและเลือกที่จะนำเสนอตนเองสู่สายตาของชาวมหานครที่เต็มไปด้วยผู้คนหลากเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็น อเมริกัน นิโกร จีน ซึ่งคนเหล่านั้นก็ต้องดำเนินวิถีชีวิตตามแบบฉบับของเชื้อชาติตนเองเช่นกัน การที่ต้องปรับตัวกับสังคมอื่นที่ไม่ใช่สังคมฉบับเดิมของตนเองให้พร้อมไปกับการรักษาขนบธรรมเนียมของเชื้อชาติมาตุภูมิของตนนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลยด้วยซ้ำ เพราะไม่เพียงแต่ภาษาเท่านั้นที่จะเอาตัวรอดและดำรงชีวิตในพื้นที่ต่างเชื้อชาตินี้ได้ หนังอินเดียที่ใครๆชอบบ่นว่ายาวเว่อร์ ก็ได้ถูกใช้เวลาที่มีอยู่สามชั่วโมงนี้ให้เป็นประโยชน์ โดยเอามาสอดแทรกซับพล็อตเหล่านี้ให้หนังดูมีความสมบูรณ์และได้สาระและอรรถรสมากยิ่งขึ้น

null

นอกจากซับพล็อตอันละเอียดอ่อน และแฝงแง่มุมกับสาระที่นอกเหนือไปจากความรักแบบหนุ่มสาวตามแบบฉบับที่หนังรักโรแมนติกทั่วไปที่ใช้กันและลืมเลือนข้อสำคัญในจุดของครอบครัวไปแล้ว ความรักแบบเพื่อนก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีบทบาทไม่น้อยในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นความรักของเพื่อนสาวกับเพื่อนสาว ระหว่างนัยนากับ สวีตตู(เทลนาส พอล) เพื่อนสาวร่างเจ้าเนี้อที่ไม่เคยกังวลกับเรื่องน้ำหนักขึ้นเลย และมักจะเอาปัญหามาปรึกษากับนัยนาตลอด โดยเฉพาะเรื่องการตามหาชายในฝัน หรือจะเป็นความสัมพันธ์ของเพื่อนชายกับเพื่อนชาย ระหว่างอามันกับโรฮิต ที่ในช่วงครึ่งหลังของเรื่องอามันจะให้คำแนะนำแก่โรฮิตในการเอาชนะใจของนัยนาให้ได้ หรือแม้กระทั่งความสัมพันธ์แบบเพื่อนชายกับเพื่อนหญิงที่ง่ายดายต่อการเปลี่ยนแปลงความรู้สึกไปเป็นความรู้สึกของคนรักที่แน่นอนว่าหลายคนต้องเคยผ่านพ้นมา ระหว่างโรฮิตและนัยนา ความสัมพันธ์ของพวกเขาทุกคู่ล้วนเป็นไปตามความรู้สึกที่บริสุทธิ์ ลึกลงไปอีกขั้นหนึ่งระหว่างอามันกับโรฮิต และโรฮิตกับนัยนา โดยอามันนั้นต้องการให้โรฮิตมีความสุขกับคนที่เขารัก แม้ว่าคนคนนั้นจะเป็นคนเดียวกับที่อามันรักก็ตาม และโรฮิตเองก็พร้อมที่จะหลีกทางทันทีที่รู้ว่าคนที่นัยนารักคืออามัน ก่อนที่จะได้รับกำลังใจและคำแนะนำจากอามันให้ลุกขึ้นมาสารภาพความจริงกับนัยนาในที่สุด

หนังอินเดียที่ใครๆชอบบ่นว่ายาวเว่อร์ ก็ได้ถูกใช้เวลาที่มีอยู่สามชั่วโมงนี้ให้เป็นประโยชน์ โดยเอามาสอดแทรกซับพล็อตเหล่านี้ให้หนังดูมีความสมบูรณ์และได้สาระและอรรถรสมากยิ่งขึ้น แถมบทเพลงอันไพเราะตามสไตล์ภารตะที่หาจังหวะมานำเสนอในรูปแบบของมิวสิควิดีโอได้อย่างลงตัวและถูกจังหวะจะโคน พูดถึงเพลงในเรื่องนี้แต่ละเพลงนั้นเรียกได้ว่าไพเราะและกระตุ้นอารมณ์ให้กับผู้ชมได้อย่างดีเลยทีเดียว โดยเฉพาะเพลงในช่วงครึ่งหลังของเรื่อง หลังผ่านพักครึ่งเวลาหรือ intermission ไปแล้ว(หนังอินเดียมีความยาวมากกว่าหนังจากประเทศอื่นๆ เพราะต้องมีการใส่ฉากเพลงเข้าไปด้วยทำให้บวกเวลามาอีกหลายสิบนาที จึงมีการพักครึ่งเวลา หรือที่เรียกว่า intermission เพื่อให้ผู้ชมที่เข้าชมในโรงมีโอกาสได้ไปพักเข้าห้องน้ำ หรือทำธุระส่วนตัว แล้วค่อยกลับเข้ามาชมภาพยนตร์ต่อในเนื้อเรื่องช่วงครึ่งหลัง อนึ่ง หนังบอลลีวูดหลายเรื่องจึงต้องปูเนื้อเรื่องให้จบครึ่งแรกอย่างน่าติดตาม เพื่อให้ผู้ชมมีความสนใจที่จะกลับเข้ามาชมเนื้อเรื่องในครึ่งหลัง แต่กับยุคสมัยนี้ที่มี DVD และ Bluray ครองเมือง การเลือกฉากที่ชอบในแผ่นมาชม คงพอจะสร้างความสะดวกให้แก่ผู้ชมได้บ้าง)

null

เคยมีใครบางคนกล่าวเอาไว้ว่า “รักที่ยิ่งใหญ่…คือการเสียสละ” บางคนอาจจะนึกภาพไม่ออก แต่หากได้มาชม Kal Ho Naa Ho แล้ว คุณคงจะรู้เลยว่าพลังแห่งความรักนั้นยิ่งใหญ่แค่ไหน อย่างที่บอกครับ ว่าถึงในเรื่องนี้จะมีพล็อตหลักเป็นเรื่องราวความรักของหนุ่มสาว แต่ในพล็อตรองนั้นอุดมไปด้วยเรื่องราวความรักหลากหลายรูปแบบ ทั้งความรักแบบเพื่อน แบบครอบครัว เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่หนังอินเดียมักจะสอดแทรกลงไปด้วยเสมอ โดยเฉพาะความรักแบบครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ลูก หรือพี่น้อง การนำเสนออุดมคติเกี่ยวกับเรื่องของความกตัญญูลงไปในหนัง ท่ามกลางปัญหาหัวใจที่ว้าวุ่น และไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับชีวิตของตนเอง เหล่าตัวเอกของเรื่องเลือกที่จะระบายความรู้สึกอัดอั้นตันใจนี้ผ่านผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นบุพการี เลือกที่จะขอคำปรึกษาจากพวกท่านเป็นคนแรก เลือกที่จะไม่หนีปัญหาด้วยวิธีโง่ๆอย่างการกินเหล้าเมาหยำเป เนื่องเพราะความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือคุณพ่อคุณแม่ของเรานั่นแหละครับ ที่รักเราอย่างบริสุทธิ์ใจ และไม่ต้องการอะไรตอบแทน นอกจากให้ลูกมีความสุขเท่าที่พ่อแม่จะประทานให้ได้ อานุภาพของความรักในจักรวาลของหนังอินเดีย ถือว่ายิ่งใหญ่มากกว่าหนังชาติอื่นๆมากนัก อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมที่สอนให้ชาวอินเดียนอบน้อมถ่อมตนต่อผู้หลักผู้ใหญ่มาตั้งแต่สมัยโบราณกาล ทำให้มีผลสืบเนื่องมากระทั่งทุกวันนี้

ด้วยการเกลี่่ยบทอันลงตัว ทำให้ตัวละครหลักทั้งสาม อันได้แก่ อามัน นัยนา และโรฮิต มีเสน่ห์ในตัวของพวกเขาเอง แม้การปรากฏตัวในบทของแต่ละคนจะไม่เท่ากันซะหมด แต่ตัวละครทั้งสาม และอาจจะทุกตัว ล้วนมีเอกลักษณ์และคาแรคเตอร์ที่แสดงถึงความเป็นตัวของตัวเองอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็น อามัน หนุ่มอารมณ์ดี ไปไหนใครๆก็รัก นัยนา สาวน้อยจอมขี้บ่น โรฮิต เจ้าหนุ่มกะล่อนแต่จริงใจ เจนนิเฟอร์ แม่ผู้เงียบขรึม ลัชโช ย่าผู้เอาแต่ใจ สวีทตู เพื่อนสาวช่างจ้อของนัยนา แจ๊ซ พี่สาวของสวีทตูผู้ไม่เคยคิดว่าตนเองแก่ คุณจัดดา ชายชราผู้มั่นรัก ศิวะ เด็กชายผู้มีความฝัน และ กิญา สาวน้อยเจ้าน้ำตา และเป็นตัวละครที่มีความน่ารักไม่แพ้ตัวละครหลักทั้งสามเลยทีเดียว นับเป็นความชาญฉลาดในการเขียนบทภาพยนตร์ และกระจายบทให้ตัวละครแต่ละตัว ได้ออกมาขโมยซีนบนจอไม่ต่ำกว่าสามครั้ง ทำให้ตัวละครทุกตัวเป็นที่น่าจดจำ และเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ผู้ชมรู้สึกประทับใจ และจดจำเนื้อเรื่องได้จากการกระทำที่เด่นและเป็นวีรกรรมของตัวละครแต่ละตัว อันเป็นกลยุทธ์การวางบทที่เฉียบคม และสร้างความผูกพันระหว่างคนดูกับตัวละครไปอย่างแนบเนียน

null

นอกจากการวางคาแรคเตอร์ให้คนดูรู้สึกรักตัวละคร การโยงเนื้อเรื่องที่ผสมกลมกลืนระหว่างความรักของหนุ่มสาว กับความรักแบบเพื่อนและแบบครอบครัว และการดำเนินเรื่องที่เป็นไปอย่างมีชั้นเชิงแล้ว อีกหนึ่งความสร้างสรรค์ที่ถูกถ่ายทอดลงใน Kal Ho Naa Ho คงหนีไม่พ้นบทสนทนาอันคมคาย ซึ่งแม้ว่าเวลาฟังในครั้งแรก มันอาจจะดูเริดหรูลิเกไปหน่อย ตามสไตล์หนังอินเดียทั่วไปที่ชอบสรรหาบทพูดเว่อร์ๆมายัดใส่ปากตัวละคร แต่หากฟังดูดีๆแล้วจะพบว่า ประโยคแค่ประโยคเดียวอาจสรุปอารมณ์ทั้งเรื่องของหนังได้ เช่น ในตอนใกล้จบครึ่งแรกของหนัง ที่อามันรู้ว่านัยนาจะมาสารภาพความในใจกับตน แต่เพราะเขารู้ตัวดีเองว่าเขาคงมีชีวิตได้อีกไม่นาน จึงโกหกนัยนาว่ามีภรรยาแล้ว เพื่อให้เธอตัดใจและหันมองโรฮิต คนที่รักเธออีกคน ทำให้นัยนาเดินจากอามันไปทั้งน้ำตา แม่ของอามันจึงถามเขาว่า มันดีแล้วหรือที่บอกนัยนาไปอย่างนั้น อามันไม่รักนัยนาเลยเหรอ แต่อามันกลับตอบแม่ไปว่า “ผมจะรักเธอได้ยังไง ในเมื่อหัวใจของผมมันอ่อนแอมากขนาดนี้” คำว่า “หัวใจ” ที่อามันพูดย่อมไม่ใช่หัวใจที่แปลว่าความรู้สึกรัก แต่คือหัวใจจริงๆที่เป็นอวัยวะ ซึ่งอามันรู้ตัวดีว่ามันอ่อนแอมากแล้ว ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาข้างต้น

ฟังดูจากที่ผมสาธยายมาทั้งหมด ทำให้บางท่านอาจจะคิดว่าเป็นหนังโรแมนติกดราม่านะครับ จริงๆแล้วนั่นเป็นแค่ช่วงครึ่งหลังของเรื่องเท่านั้น เพราะในช่วงเปิดเรื่องก็มาแบบเกาหลีเลยครับ ออกแนว My Sassy Girl ซะด้วยซ้ำ คือมาในแบบพ่อแง่แม่งอนเลย พระเอกจอมกวน ก็ต้องเหมาะกับนางเอกขี้โมโห มันถึงจะสนุก เอาใจวัยรุ่น (ถึงนักแสดงนำจะห่างไกลจากคำว่าวัยรุ่นมาเยอะแล้วก็เถอะ) แม้การดำเนินเรื่องในพล็อตหลักจะดูเบาหวิวและบังเอิ๊ญ บังเอิญไปสักนิด แต่กลับให้รายละเอียดได้ดีในด้านซับพล็อตต่างๆที่มีชั้นเชิงดีทีเดียว และการดำเนินเรื่อง การสร้างสถานการณ์ต่างๆให้กับตัวละคร ก็ให้อารมณ์ Feel Good ประมาณหนังของค่าย GTH ยังไงยังงั้น คือดึงคนดูด้วยเนื้อเรื่องเฮฮาปาจิงโกะ น่ารักๆไว้ก่อน ก่อนจะค่อยๆหาจังหวะทยอยสร้างอารมณ์ดราม่าเข้าไปในเนื้อเรื่องอย่างไหลลื่นและแนบเนียน ทำให้คนดูที่อาจจะหัวเราะลั่นอยู่เมื่อไม่กี่นาทีก่อนหน้านี้ กลับมาน้ำตาไหลฟูมฟายไปในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้าได้อย่างง่ายดาย ในขณะที่ส่วนของดราม่าก็ไม่ได้กระแทกกระทั้นให้ดูรันทดนัก ยังคงมีช่วงคอเมดี้และฉากกุ๊กกิ๊กน่ารักๆคอยผ่อนปรนอารมณ์ให้อยู่ตลอด อารมณ์ของหนังก็ไม่ได้บีบคั้นอารมณ์คนดูมากเกินไปนัก คือเอาแค่สะเทือนใจ แต่ไม่ถึงกับทำร้ายจิตใจ อยู่ในระดับดราม่าที่กลมกล่อมและถึงอารมณ์ในจุดที่มันควรจะเป็น

null

ผมดู Kal Ho Naa Ho อย่างเพลิดเพลิน ตลอดเวลาสามชั่วโมง มันผ่านไปเร็วราวกับแค่สามสิบนาทีเท่านั้น แต่เมื่อดูจบแล้วก็รู้สึก “อิ่ม” ขึ้นมาทันตาเห็น อิ่มกับความยาวของหนังที่ดูกันแบบสะใจ อิ่มกับบทเพลงอันไพเราะประทับใจ อิ่มกับอารมณ์ Feel Good ในหนังที่แม้จะดราม่าเพียงใด แต่ก็ยังปรากฏรอยยิ้มเล็กๆจากสถานการณ์ต่างๆในเรื่อง ทำให้เมื่อดูจบแล้วมีความสุขมากกว่าจะมานั่งเสียใจในโชคชะตาของตัวละครแต่ละตัว อิ่มกับสาระต่างๆในเรื่องที่ให้อะไรได้มากกว่าหนังรัก และอิ่มกับอารมณ์โรแมนติกที่ผู้สร้างสื่อความรักในหลายๆด้าน และเป็นหนังรักที่ทำได้เหนือกว่าหนังรักทั่วๆไปหลายเท่าตัวนัก หนังสอนให้คนเรารู้จักใช้ชีวิตหนึ่งในชาตินี้อย่างคุ้มค่าและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ดังเช่นการกระทำของอามันที่สร้างความสุข และคอยแก้ปัญหาให้กับผู้คนที่อยู่รอบข้าง และพยายามผลักดันให้นัยนา ผู้หญิงที่เขารักมีความสุขที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของครอบครัวหรือเรื่องของหัวใจก็ตาม โทนหนังทั้งหมดของเรื่องอยู่ในมุมที่อบอุ่น และดูสบายๆ แม้ชีวิตจริงอะไรๆหลายๆอย่างอาจจะไม่บังเอิญและง่ายดายแบบที่ปรากฏใน Kal Ho Naa Ho แต่ผมเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า หากคุุณมีความรัก และพร้อมที่จะให้คนที่คุณรักมีความสุข เรื่องราวแบบใน Kal Ho Naa Ho อาจจะเกิดขึ้นกับคุณในชีวิตจริงๆก็ได้ และอาจจะดีกว่า ง่ายดายกว่าด้วยซ้ำ ขอแค่คุณ “เสียสละ” เพื่อ “รัก” ได้ เท่านั้นก็นับว่าได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับชีวิตแล้ว

 

คะแนนรวม  10/10

 

ฉากเด็ด

ฉากที่นัยนารู้แผนการณ์ของอามันและโรฮิต ที่ว่าอามันช่วยเหลือโรฮิตในการเอาชนะใจนัยนา ทำให้นัยนาโกรธมาก เพราะคิดว่าชายหนุ่มทั้งสองกำลังเล่นกับความรู้สึกของเธอ ในจังหวะนั้นอามันเกิดไหวพริบ พลันคว้าไดอารี่ของโรฮิตขึ้นมา และอ่านความในใจที่โรฮิตมีต่อนัยนา ทว่าแท้จริงแล้ว ในไดอารี่หน้านั้นกลับว่างเปล่า ไม่มีตัวหนังสือสักตัวเลยด้วยซ้ำ และคำพูดต่างๆที่อามัน “ด้นสด” ให้นัยนาฟัง แน่นอนว่าเขาไม่ได้พูดแทนโรฮิต แต่พูดแทนใจตนเองต่างหาก ฉากนี้เรียกน้ำตาได้ไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะการบอกความในใจของตนให้คนที่ตนรัก ในนามของคนอื่นนั้น มันเจ็บปวดขนาดไหน

ตัวอย่างภาพยนตร์

ขอขอบคุณข้อมูลจาก  วิกิพีเดีย  Wikipedia

Directed by Nikhil Advani
Produced by Yash Johar
Written by Niranjan Iyengar
Karan Johar
Narrated by Preity Zinta
Starring Jaya Bachchan
Shahrukh Khan
Saif Ali Khan
Preity Zinta
Music by Shankar-Ehsaan-Loy
Cinematography Anil Mehta
Editing by Sanjay Sankla
Distributed by Dharma Productions
Release date(s) 28 November 2003
Running time 184 mins
Country India
Language Hindi
English
Budget Indian Rupee symbol.svg30 crore (US$6.66 million)[1]
Gross revenue Indian Rupee symbol.svg77.95 crore (US$17.3 million)[2]